posttoday

ผลกระทบของสงครามและการลงทุน

21 มกราคม 2563

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

เริ่มต้นปี 2020 การพักรบระหว่างสงครามการค้าดูเหมือนว่าจะดีขึ้น แต่ความกังวลว่าจะเกิดสงครามอีกครั้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ นักลงทุนหันกลับไปซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร หรือ ทอง ที่ปรับตัวขึ้นแรงในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ทางอิหร่านได้มีการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักเป็นการตอบโต้ ตลาดหุ้นก็ปรับตัวลงแรงอีกครั้งหนึ่ง แต่เหตุการณ์สหรัฐฯ-อิหร่าน ในครั้งนี้มีการปรับลงค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในครั้งก่อนๆ ดังเช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย 1991, การรุกรานอิรักในปี 2003 และเหตุการณ์ 911 ปี 2001 ดัชนี S&P 500 ปรับลง 16.2%, 5.1% และ 11.6% ในวันเริ่มสงคราม แต่หากดูกันยาวๆหลังจากสงครามเริ่มไป 3 เดือน ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 6.4%, 20.4% และ 18.4% ตามลำดับ

แม้ว่าสงครามจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนแต่ก็นำมาซึ่งโอกาสในการลงทุนเช่นกัน สงครามเป็นเหตุการณ์ที่นักลงทุนไม่ต้องการและดูโหดร้าย แต่ในมุมมองของเศรษฐกิจแล้ว สงครามมีผลทางด้านบวกต่อเศรษฐกิจในหลายมิติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงาน เศรษฐกิจเติบโตขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น อีกทั้งหลังจากสงครามจบลง จำเป็นต้องมีการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายด้วย พูดง่ายๆ คือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังนั่นเองและมีประสิทธิภาพกว่านโยบายการเงินด้วยซ้ำ ดังเช่น ที่เคยเกิดกับประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตัวเลขเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

ในหลายๆ ครั้งหุ้นที่ดีก็ถูกเทขายเมื่อเกิดสงครามด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในตลาดหุ้นมีภาพที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความหลากหลาย และหลายหลักทรัพย์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แถมยังอาจได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เช่น Alphabet (Google) หรือ Facebook อาจมีการเข้าชมเว็บไซต์มากขึ้นเพื่อติดตามข่าวสงครามแต่ความผันผวนในตลาดก็กระทบหุ้นทั้งสองด้วยเช่นกัน ความผันผวนถือเป็นโอกาสดีที่จะลงทุนในตราสารที่อาจถูกกระทบไปด้วยแต่ยังมีอนาคตที่มั่นคง

ทาง KBank Private Banking ได้เน้นกลยุทธ์การลงทุน กระจายลงทุนในทุกสินทรัพย์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง และต้องมีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนตามสภาวะหรือความผันผวนของตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังเช่นกองทุนเปิดเค โกลบอล ริสก์ แอลโลเคชั่น ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (K-GLAM-UI) หรือ กลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในสภาวะตลาดหลายๆ แบบดังเช่น กองทุนเปิดเค มัลติ-สตราทีจี บอนด์ (K-MBOND) ที่เป็นการลงทุนทางเลือก เน้นลงทุนผ่านตราสารหนี้ และสกุลเงิน ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลตอบแทนและบริหารจัดการความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี