posttoday

การลงทุนในช่วงทศวรรษ 2010s

07 มกราคม 2563

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน

เรื่อง การลงทุนในช่วงทศวรรษ 2010s

โดย ดร.สมชัย อมรธรรม

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์

บลจ. กรุงไทย

..............................................................................................

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ เนื่องในวาระขึ้นปีใหม่นี้ ผมขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงดลบันดาลให้ทุกท่านประสบความสำเร็จตามที่ต้องการนะครับ ทั้งในด้านชีวิต หน้าที่การงาน และการลงทุน สำหรับในปี 2562 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ดีสำหรับการลงทุน แม้ว่าจะโลกจะมีความเสี่ยงต่างๆ นานา แต่ผมขออาศัยโอกาสนี้มองย้อนกลับในช่วงทศวรรษ 2010s (ปี ค.ศ. 2010-2019) ที่เพิ่งผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รวมถึงลองมองไปในช่วง 10 ปีข้างหน้าว่ามีอะไรต้องจับตาดู

เราเริ่มต้นทศวรรษ 2010s ด้วยความหวาดกลัว วิกฤติเศรษฐกิจ-การเงินครั้งใหญ่ของโลกยังคงครุกรุ่นอยู่ หลายฝ่ายพยายามประคับประครองเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ แต่ความกังวลว่าเราอาจจะฟุบลงไปอีกครั้งและไม่ฟื้นขึ้นอีกก็ยังแพร่กระจายอยู่ในใจคนส่วนใหญ่ วิกฤติ Subprime ที่เกิดขึ้นสหรัฐฯ ส่งผลลุกลามไปทั่วโลก ทำให้คนเริ่มตื่นขึ้นว่าโลกไม่ได้สวยหรูอย่างที่ฝันไว้ ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมก็ค่อยๆ ปรากฎขึ้น ใครที่กู้หนี้เกิดตัวเริ่มถูกเพ่งเล็ง จนเกิดเป็นปัญหาหนี้สาธาณะประเทศกรีซ ลามไปยังประเทศกลุ่ม “ลูกหมู” (PIIGS) และลุกลามใหญ่โตขึ้นจนเป็นความกลัวว่ายูโรโซนอาจจะ “แตก” ออกเป็นเสี่ยงๆ

“พระเอก” ที่สำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะเป็นธนาคารกลางต่างๆ ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งพยายามทำให้วงล้อเศรษฐกิจให้หมุนต่อไปได้ หลังจากที่ดอกเบี้ยลดลงมาจนเหลือศูนย์ นโยบายใหม่ๆ จึงถูกนำออกมาใช้ เกิดเป็นตัวย่อใหม่เสริมเข้ามาในตำเรียนเศรษฐศาสตร์ ทั้ง QE, QQE, Mini-QE, NIRP (Negative Interest Rate Policy), LTRO, TLTRO, Operation Twist รวมถึงคำพูดคลาสสิก อย่างเช่น “Do whatever it takes” เมื่อทุกคนพร้อมใจกันอัดสภาพคล่องเข้ามาในระบบจนล้นเช่นนี้ ความเชื่อมั่นก็ค่อยๆ ฟื้นกลับมา ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อความมั่งคั่งของครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

ครั้นเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เฟดก็ออกมาส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้ง ความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนจะ Hard Landing จากหนี้ที่สูงก็ดูจะรุนแรงขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ รวมไปถึงการเร่งผลิต Shale Gas ในสหรัฐฯ ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงลงรุนแรง ส่งผลต่อเศรษฐกิจผู้ส่งออกน้ำมัน เหล่านี้ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อย่างรุนแรงในช่วงกลางๆ ทศวรรษด้วย

หลังจากที่ราคาน้ำมันร่วงจากราว $100 เหลือ $30 ก็เริ่มที่ยืนได้ เมื่อต้นทุนน้ำมันถูกลง สภาพคล่องยังสูง การค้าขายยังเกิดขึ้นตามปรกติโดยไม่มีกำแพงภาษี วงล้อเศรษฐกิจจึงเริ่มเคลื่อนตัวดีอีกครั้ง อีกทั้ง สหรัฐฯ ก็ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนโยบายในช่วงแรกคือ การลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญ ทำให้เกิดช่วงเวลาที่ดีสำหรับเศรษฐกิจโลก กลายเป็นการเติบโตที่ประสานและเอื้อต่อกันทั่วโลก (Synchronized Growth)

แต่หลังจากนั้น สหรัฐฯ ก็กลับมาเป็น “บทโหด” ปะทะกับประเทศอื่น แต่พอเศรษฐกิจเริ่มสะดุด ธนาคารกลางต่างๆ ก็ได้ออกมา “ขี่ม้าขาว” อีกครั้ง กลับมาลดดอกเบี้ยและอัดฉีดสภาพคล่องในปีสุดท้ายของทศวรรษ ส่งผลดีต่อราคาสินทรัพย์ แต่คราวนี้ส่งผลดีเฉพาะบางประเทศเท่านั้น คือ เฉพาะกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว

สำหรับไทย เราเองก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นต่างๆ มากมาย วนเวียนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองอยู่ไม่น้อย แต่ถึงกระนั้น ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยก็ยังเติบโตได้กว่า 35% ในเชิงปริมาณ (หรือที่เรียกว่าเศรษฐกิจ “ที่แท้จริง”) หรือกว่า 65% ในรูปที่เป็นตัวเงิน (รวมเงินเฟ้อ)

ในด้านผลตอบแทนการลงทุน แม้ว่าทศวรรษที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์น่ากังวลหลายเรื่อง แต่การลงทุนโดยส่วนใหญ่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก หากใครลงทุนเงินฝากประจำ 1 ปีและมีการลงทุนต่อเมื่อครบกำหนด จะได้ผลตอบแทนประมาณ 15% ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่หากขยับการลงทุนเป็นในพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุประมาณ 1-3 ปี (อายุยาวขึ้นและความผันผวนสูงขึ้นเล็กน้อย) จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเป็น 31% ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

แต่หากใครลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะได้ผลตอบแทนถึงประมาณ 205% (รวมเงินปันผล) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หรือถ้าใครไปลงทุนต่างประเทศ ผลตอบแทน (รวมเงินปันผล) ของ S&P500 อยู่ที่ประมาณ 250% ส่วน NASDAQ อยู่ที่ประมาณ 350% ตลอดช่วง 10 ปีเช่นเดียวกัน แต่ถ้าใครไปลงทุนในหุ้นจีน A-Share กลับจะได้ผลตอบแทนเพียง 16.6% เท่านั้น และได้ความผันผวนที่มากมาเป็นของแถม

แล้วในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?

ส่วนใหญ่จะมองว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะต่ำลงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากความกังวลว่ากระแสโลกาภิวัมน์ (Globalization) อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ก็ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ภาวะถดถอย (Recession) ก็อาจจะเกิดขึ้นซักครั้ง ความเปราะบางเองก็ค่อยๆ สะสมมากขึ้นในหลายจุด และหากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน ความร่วมมือกันระหว่างประเทศเริ่มดูน้อยลง กระแสการเมืองในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศก็ดูรุนแรงขึ้นจนน่าเป็นกังวล

แน่นอนว่า ต่อไปนี้ หากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น คนก็หันไปมอง “พระเอก” ในทศวรรษก่อนว่าจะเข้ามาช่วยอะไรได้บ้าง ถ้าดูจากมาตรการที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็พอเห็นว่าธนาคารกลางยังมี “ความสามารถ” ในการกระตุ้นอีกมาก (ดูธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง) หากแต่ “ประสิทธิผล” ของมาตรการเหล่านั้นอาจจะน้อยลงกว่าในอดีต

อีกทั้ง เรายังไม่เห็นผลข้างเคียงจากมาตรการ “ใหม่ๆ” เหล่านี้ (Unconventional Policy) มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ยาวิเศษที่ลอยมาจากฟ้า ที่จะมีแต่ผลดีแต่ไม่มีผลกระทบข้างเคียงเลย จึงต้องคอยดูว่ามาตรการเหล่านี้จะสร้างผลเสียอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง

แต่หากมองในด้านมูลค่าการลงทุน จุดเริ่มต้นของทศวรรษนี้ถือว่าไม่ดีเหมือนอย่างในทศวรรษที่แล้ว ดอกเบี้ยเริ่มต้นทศวรรษใหม่ที่ระดับต่ำกว่า (โดยเฉพาะดอกเบี้ยอายุยาวๆ) และมูลค่าหุ้นก็ค่อนข้างสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด เราคาดว่าผลตอบแทนจากตราสารหนี้ (พันธบัตรและเงินฝาก) น่าจะต่ำกว่าในทศวรรษที่ผ่านมา

และตลาดหุ้นยังคงน่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดตราสารหนี้ แต่ทว่าความผันผวนก็อาจเกิดบ่อยขึ้นด้วย การจัดพอร์ตที่ผสมสินทรัพย์ต่างๆ เข้ามาจะช่วยทำให้พอร์ตมีเสถียรภาพมากขึ้น และเลือกระดับของสินทรัพย์เสี่ยงที่เหมาะกับแต่ละท่าน โดยอาจยึดคติ “กินอิ่ม นอนหลับ” เป็นหลักในการจัดพอร์ต รวมถึงการกระจายความเสี่ยงก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาจจะไม่รู้ว่าหุ้นที่เราถือจะเป็นเหมือนหุ้นสหรัฐฯ หรือหุ้นจีน ในทศวรรษที่ผ่านมาครับ