posttoday

รับมือกฎของเมอร์ฟี่ ด้วยการลงทุนที่ปลอดภัย ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2563

07 มกราคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ถ้าพวกเราสังเกตให้ดีจะพบว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์วนเวียนขึ้นลง แต่แล้วก็ “กลับมายืนที่เดิม” ประมาณ 1600+/- ทุกที และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ ความชัดเจนของการเล่นหุ้นรายตัวจะชัดเจนมากขึ้น แรงผลักดันทั้งสองนี้กำลังจะส่งสัญญาณบางอย่างกับอนาคตของตลาดหุ้นไทย!

ผมคิดว่า แรงผลักดันทั้งสองนี้ จะมีนัยยะสำคัญต่อการลงทุนในอนาคตเป็นอย่างยิ่งอย่างน้อยก็มีผลต่อการลงทุนประเภทการลงทุนเชิงรับ (Passive investment) และการลงทุนในกองทุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประเภท ETF หรือ Exchange Traded Fund ซึ่งเป็นรากฐานของการวางแผนการเงินส่วนบุคคลและปรัชญาการลงทุนที่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา และมีผลต่ออุตสากรรมการจัดการลงทุน

เราจะเห็นได้ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา คนที่เป็นชนชั้นกลางจะมีความมั่งคั่งเพิ่มสูงขึ้นได้ด้วยการลงทุนผ่านกลไกของตลาดทุนและอุตสาหกรรมที่เติบโต ตามมาก็คือ อุตสาหกรรมการบริหารการเงินส่วนบุคคล โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นกลางประสบความสำเร็จทางการเงินก็คือ การเติบโตของตลาดหุ้น ซึ่งก็แน่นอนที่ในตลาดหุ้นของประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีทั้งบริษัทที่เติบโตสูงและมีกำไรแต่เติบโตต่ำ และพวกบริษัทที่ถูก Disrupt แล้ว แต่ในภาพรวม ก็มีกลุ่มบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ มีกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า Tech firm เกิดขึ้น ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตลาดหุ้นเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีการควบรวมกิจการที่สร้างราคาเพิ่มอยู่โดยตลอดอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตลาดหุ้นในประเทศสหรัฐอเมริกามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ได้ประโยชน์กลุ่มใหญ่ก็คือมนุษย์เงินเดือนหรือชนชั้นกลางที่เกาะกระแสการเติบโตของตลาดหุ้นตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาผ่านการลงทุนแบบ Passive investment

แต่หันกลับมามองอย่างประเทศไทยบ้าง ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมานี้เราเจอกับสถานการณ์ “กลับมายืนที่เดิม” ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่วนเวียนขึ้นลง แต่สุดท้ายแล้วก็อยู่แถวแถวนี้ ก็เนื่องมาจากการขาด Catalysts ใหม่ ๆ เช่น การเติบโตของเศรษฐกิจ กำไรของบริษัทจดทะเบียน และสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือ Business model ของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นธุรกิจแบบดั้งเดิม สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่มาก สิ่งที่ผมเห็นก็คือ เรามีบริษัทที่เคยเติบโตสูงซึ่งแม้ตอนนี้จะมีกำไรอยู่ก็ตาม แต่กำไรจะเติบโตในอัตราลดต่ำลง หรือบริษัทที่เคยมีกำไรที่ดี จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ แต่ในอนาคตก็กำลังจะเข้าสู่ Sunset industry และอาจจะไม่สามารถทำกำไรที่ดีได้เหมือนอย่างในอดีต นอกจากนี้ ก็ยังมีบริษัทที่เข้าตลาดแต่คุณภาพไม่ดีอีกจำนวนหนึ่ง

หันมาดูกิจการที่มีความสามารถสร้างกระแสเงินสดที่จะเติบโตได้ ในปีที่ผ่าน ๆ มาก็เห็นจะมีแต่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้ากับรถไฟฟ้า ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว การเติบโตจะเป็นแบบเชิงปริมาณเหมือนขายส่ง เพราะยิ่งผลิตไฟฟ้า/มีขบวนรถหรือสถานีเชื่อมต่อมากขึ้น ก็ยิ่งมีกระแสเงินสดรับเป็นจำนวนมากขึ้น แต่อัตราการทำกำไรต่อหน่วยไม่ได้สูง จึงถือว่าเป็นการเติบโตเชิงปริมาณ แต่ไม่ใช่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาหุ้นประเภท Consumer finance ก็เติบโตสูง ซึ่งราคาหุ้นก็ขึ้นมาพร้อม ๆ กับปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจนน่าจะเข้าใกล้เพดานวิกฤติ จากเหตุผลดังกล่าว การเติบโตในภาพรวมของตลาดหุ้น จึงไม่เกิดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เพราะไม่มีกิจการที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมากพอที่จะดึงภาพรวมขึ้นทั้งตลาดให้มีอัตราการเติบโตสูงเหมือนในอดีต

เมื่อภาพรวมไม่มีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เติบโตสูงด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม และบริษัทที่อยู่ในตลาดก็อยู่ในอุตสาหกรรมที่อิ่มตัวหรือกำลังจะร่วงโรย ศักยภาพของตลาดหุ้นที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงในระยะยาวก็คงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนในระยะยาวแบบ Passive investment ที่อาจโตช้าด้วยในระยะยาว ทำให้ไม่สามารถเป็นเครื่องมือในการลงทุนระยะยาวเหมือนกับในต่างประเทศ นี่เป็นเรื่องใหญ่โตที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อความมั่งคั่งของมนุษย์เงินเดือนและชนชั้นกลางในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการวางแผนเกษียณ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์นี้ เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนเชิงรับที่การเติบโตของตลาดหุ้นมีอัตราสูงเหมือนในอดีต (Total return ประมาณ 10-15% ต่อปีขึ้นไป) อาจไม่ได้เห็นอีกต่อไป

แล้วมนุษย์เงินเดือนจะวางแผนการเงินหรือวางแผนเกษียณอย่างไรดี เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน นักลงทุนก็คงต้องถามตัวเองว่าต้องการผลตอบแทนหรือ Growth สูงเหมือนเดิม ก็ต้องรับความเสี่ยงให้ได้มากขึ้น หรือจะยอมตัดใจเปลี่ยนเส้นทางสายเติบโตเป็นการยอมรับความจริงตามที่ตลาดเป็น โดยยอมรับผลตอบแทนที่อาจลดลงบ้างเล็กน้อย ทางเลือกต่าง ๆ มีหลากหลาย แต่เท่าที่ผมพอจะนึกออกก็คือ

ทางเลือกแรกสำหรับนักลงทุนที่ยังต้องการลงทุนในประเทศ และยอมรับที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์จากที่เคยสนใจจากการลงทุนเชิงรับและคาดหวังการเติบโตสูง มาเป็นจากการลงทุนเชิงรับและคาดหวังผลตอบแทนที่ต่ำลงแต่สม่ำเสมอมากขึ้น ก็น่าจะมองกลยุทธ์ Current yield ผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้นปันผลหรือลงทุนหุ้นปันผลโดยตรงที่เน้นปลอดภัยได้กระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ (น่าจะคาดหวัง Total return ประมาณ 3-7% ต่อปี) ทางเลือกนี้ นักลงทุนต้องเปลี่ยน Mindset จากการลงทุนที่หวัง Capital gain เป็นการลงทุนที่เน้น Dividend แล้วหันไปเลือกหุ้นรายตัวที่จ่ายปันผลดี แล้วถือยาว ๆ
ทางเลือกนี้ก็มีความเสี่ยงที่หุ้นที่จ่ายปันผลดีมักจะอยู่ในวงจรอิ่มตัวแล้ว เช่น หุ้น Textile ที่ในอดีตที่จ่ายปันผลดีก่อนที่จะร่วงโรย หรือหุ้นที่จ่ายปันผลดีแต่อยู่ ๆ ก็ถูก Disrupt อย่างหุ้นร้านหนังสือ เป็นต้น นักลงทุนต้องทำการบ้านหรือหาตัวช่วย เช่น โปรแกรมที่ช่วยคัดกรองหุ้น เป็นต้น

ทางเลือกที่สองสำหรับนักลงทุนที่ยังต้องการลงทุนในประเทศ แต่ยอมรับผลตอบแทนที่ลดลงจากอดีตได้จากการลงทุนเชิงรับ (น่าจะคาดหวัง Total return ประมาณ 6-9% ต่อปี) สำหรับคนที่ไม่อยากเสี่ยงไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ก็สามารถเลือกลงทุนในหุ้นยั่งยืนหรือที่เรียกว่า Sustainable stock ที่มีการเติบโตต่อเนื่องแต่ไม่หวือหวาหรือในอนาคตจะมีกองทุน ETF บนหุ้นยั่งยืนหรือลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือกอง REIT ก็น่าจะพอได้อยู่ แต่การเติบโตอาจไม่ได้หวือหวามากนัก จึงอาจไม่จูงใจพอในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางแต่ต้องการเงินเพื่อการเกษียณที่ค่อนข้างมากในอนาคต

ทางเลือกที่สามสำหรับนักลงทุนที่ยังต้องการ Capital gain จากการลงทุนเชิงรับที่การเติบโตของตลาดหุ้นมีอัตราสูงเหมือนในอดีต (Total return ประมาณ 10-15% ต่อปีขึ้นไป) ผมคิดว่า หากต้องการอัตราการเติบโตของตลาดที่สูงก็คงต้องเปลี่ยนตลาดไปลงทุนในกองทุน ETF ของตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งถ้าลอกแบบการเติบโตของตลาดหุ้นไทยในอดีตก็คงเป็นตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นเวียดนามก็อาจเติบโตสูงในไม่ช้า แต่ก็มีความเสี่ยงทางด้านค่าเงินดอง หรือถ้าต้องการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงแต่ก็หวือหวามากก็คงเป็นตลาดจีนที่จะเน้นหุ้น High tech มากขึ้นและมี private equity ของภาครัฐที่พร้อมร่วมลงทุนกับ Start-up ใหม่ๆ ที่พร้อมจะเปลี่ยนโลกในอนาคต แต่ก็โหนความเสี่ยงสูงสุดเช่นกันจากผลพวงของสงครามการค้า หรืออินเดียที่เศรษฐกิจเริ่มเติบโตสูงและมีกำลังคนเป็นขุมทรัพย์ทางการค้าในอนาคตไม่แพ้ประเทศจีนแต่ต้องรอเวลาเติบโต

ทางเลือกที่สี่ สำหรับผู้ที่ยังสนใจลงทุนในตลาดหุ้นไทย หวังการเติบโตสูงอยู่ แต่ไม่สามารถเลือกหุ้นทั้งกระดานผ่านกองทุน ETF ได้ อาจต้องปรับกลยุทธ์จากเชิงรับมาเป็นเชิงรุกมากขึ้น คือต้องทำการบ้านหรือมีผู้ช่วยเลือก “หุ้นที่ใช่” เอาไว้บ้าง ทางเลือกนี้จึงต้องอาศัย “ผู้แนะนำด้านการลงทุน” ซึ่งคงจะเป็นแนวโน้มใหม่ของธุรกิจหลักทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ที่คงต้องอาศัยช่องทางนี้เพื่อหนีการ Disrupt จาก Digital technology เช่นกัน ดังนั้น อุตสาหกรรมการเงินเองก็คงต้องพัฒนานักการเงินที่มีความสามารถเพียงพอในการให้คำแนะนำกับนักลงทุนในการเลือกการลงทุนต่าง ๆ เพื่อรองรับตลาดกลุ่มนี้ต่อไป และนับจากนี้ พวกเราก็คงจะเห็นอุตสาหกรรมการเงินลงมาเป็นผู้แนะนำการลงทุนที่ Tailor made มากขึ้นในลักษณะ Private wealth หรือ Portfolio advisory เป็นต้น

ไม่ว่าจะเลือกทางเลือกใด สิ่งที่แวดวงการลงทุนจะต้องเผชิญในปีใหม่ พ.ศ. 2563 นี้ ก็คือความผันผวนที่ไม่อาจคาดเดา นักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินก็จะคาดเดาตลาดผิดบ้างถูกบ้างเหมือนเดิม ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือจะลง ก็เดาได้ยากทั้งประเทศไทยและทั่วโลก เซียนก็ปากกาหักเป็นว่าเล่นในช่วงปีที่ผ่านมาและจะยังคงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี นับจากนี้ ทำให้ผมนึกถึงกฎของเมอร์ฟี่ (Murphy's law) ที่ว่า "Anything that can go wrong will go wrong" หรืออะไรที่สามารถผิดพลาดได้ ก็จะผิดพลาด ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม ภาษิตนี้มักใช้ในความหมายประชดประชันว่า เหตุการณ์ทั้งหลายมักไม่เป็นไปดังหวังหรือเกิดผิดพลาดได้นั่นเอง

สำหรับการวางแผนการเกษียณแล้ว มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารายได้จากการลงทุนที่ได้ลงทุนไว้ตอนสมัยยังหนุ่มสาว ไม่ต้องการที่จะผิดพลาด ไม่ต้องการความลำบากหลังเกษียณ ดังนั้น ทางเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสผิดพลาดตามกฎของเมอร์ฟี่ นักลงทุนก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนประเภทที่อาจผิดพลาดได้สูง หรือบางคนอาจหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความผันผวนไปเลย เพราะในที่สุดมันจะผิดพลาดไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แล้วหันไปหา “ของที่มีความแน่นอนกว่า” ดังนั้น ในสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนแบบนี้ พวกเราคงได้แต่คิดแสวงหาทางเลือกในการลงทุนต่าง ๆ และวางแผนการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองและสถานการณ์ที่สุด จะทางเลือกไหนก็ได้ อย่างน้อยพวกเราก็ได้พยายามลดโอกาสผิดพลาดลง แต่ผลสุดท้าย ทางเลือกไหนที่จะถูกต้อง ก็คงไม่มีใครฟันธงได้ ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ครับ ขอให้ผู้อ่านโชคดี สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.2563 ครับ