posttoday

เที่ยวอย่างนักเศรษฐศาสตร์

31 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ ทุกคนก็คงจะวางแผนเที่ยวในช่วงหยุดยาวกันอย่างสนุกสนาน วันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำวิธีการคิดและตัดสินใจท่องเที่ยวในแบบนักเศรษฐศาสตร์กัน

การตัดสินใจของคนที่มีเหตุมีผลเป็นหัวข้อใหญ่ในวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก เรียกได้ว่าเป็นแก่นของตัววิชาเลยก็ว่าได้ แล้วสิ่งที่กำหนดการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างของคน ๆ หนึ่งมันมากมายเหลือเกิน คนมีเหตุมีผลจะไม่ตัดสินใจแค่ข้อมูลที่เห็นอยู่ต้องหน้าเท่านั้น แต่จะคิดเผื่ออนาคต และทุกความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในปัจจุบันและได้ความพึงพอใจโดยเฉลี่ยสูงที่สุด แค่ฟังดูแค่จะไปเที่ยวก็เหนื่อยตั้งแต่คิดละครับ มาดูกันว่าการคิดจะไปเที่ยวแบบนักเศรษฐศาสตร์ต้องคำนึงอะไรบ้าง

อันดับแรกสุด เราต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนประเภทไหน มีความชอบความพึงพอใจต่ออะไร ส่วนนี้ในทางเศรษฐศาสตร์เราบอกว่า คนจะต้องรู้จัก Preference ตัวเองอย่างดี สำหรับผู้เขียน ผู้เขียนเป็นคนชอบเที่ยวมาก ชอบท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ ผจญภัยสุดขั้ว ถึง ศิวิไลย์สุดขีด แต่ขอให้สลับสับเปลี่ยนกันไปไม่ซ้ำซาก พอเรารู้จักตัวเองแล้ว อันดับต่อมา เศรษฐศาสตร์สอนให้เราเลือกภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ดังนั้น เราเอาข้อจำกัดของเราออกมากางบนโต๊ะที่ละด้านเลยครับ ไล่ไปที่ละข้อกันเลย

ข้อจำกัดอันดับที่ 1 คือ เงิน เราต้องมาพิจารณาดูฐานะทางการเงินเราก่อนว่า เราถือเป็นคนในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ฐานะปานกลาง หรือร่ำรวย ยิ่งเรามีเงินมาก เราก็มีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจท่องเที่ยวได้มากขึ้น ถ้ายากจนแบบปัจจัยสี่ ยังเดือนชนเดือน ก็ต้องพักเรื่องเที่ยวไปก่อน ทั้งนี้ ฐานะทางการเงินไม่ได้หมายถึง สิ่งที่มีในปัจจุบันเท่านั้น แต่เราต้องนึกเลยไปเลยเท่าที่เราจะเห็นความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตเราจะมีฐานะอย่างไร ตัวอย่างเช่น วันนี้ยากจนมาก แต่ตอนนี้ได้งานที่มั่นคง และมีเส้นทางการเลื่อนตำแหน่งที่ชัดเจนและเงินเดือนดี ถ้าเป็นแบบนี้ เราก็เป็นอีกคนนึงที่พร้อมจะเที่ยวได้ ในส่วนของผู้เขียนไม่ได้เป็นคนร่ำรวย แต่ก็ไม่ได้ขัดสนเรื่องเงิน ถือว่า ผ่านข้อจำกัดนี้ไป

ข้อจำกัดอันดับที่ 2 คือ เวลา ข้ออ้างที่จะพบได้บ่อยสุดคือไม่มีเวลาสำหรับการเที่ยวเพราะต้องทำงาน แม้กระทั้งคนที่ร่ำรวยมาก ๆ ก็มักจะพูดแบบนี้ อันนี้เราต้องมานั่งคิดดูดี ๆ ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต ในหลักเศรษฐศาสตร์บอกไว้ว่าคนที่มีเหตุมีผลจะจัดสรรการบริโภคของตัวเองให้สมดุลในทุกเวลา หรือที่เรียกว่า Consumption smoothing คือเราจะไม่ทำแต่งานวันนี้แล้วไปใช้แต่ตอนแก่ ตอนเราแก่เราจะกินจะใช้ได้มากแค่ไหนกันเชียว เราควรจะแบ่งมากินมาใช้ในทุก ๆ ช่วงชีวิตให้ใกล้เคียงสมดุลกันถึงจะทำให้เรามีความสุขที่สุด ดังนั้นความสมดุลระหว่างการทำงานกับการหาความสุขให้ชีวิตหรือ Work-life balance เป็นสิ่งสำคัญ สำหรับผู้เขียน ในหนึ่งปีต้องมี 1-2 ทริปแหละครับ รวมวันลาทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วจัดทริปเถอะครับ ถ้าการเที่ยวเป็นหนึ่งในความสุขของคุณ และ

ข้อจำกัดอันดับที่ 3 คือ ช่วงอายุ ช่วงอายุเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงเหมือนกัน เราควรจะมองเป็นภาพใหญ่เลยว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงไหนของชีวิต และช่วงไหนเหมาะกับการเที่ยวแบบไหน โดยปกติช่วงที่เราเด็ก การตัดสินใจในการเที่ยวมักจะไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่พ่อแม่ของเรา อันนี้เราก็ปล่อยให้พ่อแม่จัดการไป ในช่วงนี้สถานที่ท่องเที่ยวมักจะเป็นสถานที่สำหรับครอบครัว ไม่ได้ลุยมาก ไปได้ตั้งแต่คุณตาคุณยายยันเหลนโหลน ซึ่งก็ถูกต้องเหมาะสม พอเราโตเข้าสู่ช่วงที่เริ่มเที่ยวกับเพื่อน ช่วงนี้ควรเลือกสถานที่ที่ลุย ๆ แต่ไม่แพง เน้นที่กิจกรรมกับเพื่อนฝูง พอเริ่มทำงานได้เงินเองจนก่อนจะแต่งงานมีครอบครัว ช่วงนี้เป็นช่วงนาทีทองของการเที่ยวแบบลุย ๆ ดิบ ๆ ถ้ามีจิตใจชอบผจญภัย ควรจะสวมวิญญาณพี่สิงห์ วรรณสิงห์ หรือไม่ก็ พี่มิ้น Roam alone ลุยไปเลยครับ แนะนำไม่ต้องไปไกลครับ มาเลเซียตะวันออก อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย เนปาล มีป่ามีทะเลมีภูเขาไฟมีเทือกเขาหิมะสวย ๆ แปลกตา รอให้เราไปค้นหามากมาย ไปเถอะครับก่อนที่จะไม่มีโอกาสเมื่อแต่งงาน เพราะเราไม่รู้ว่าคู่ชีวิตเราจะอยากลุยเหมือนเรามั้ย ส่วนใหญ่พอแต่งงานแล้วที่ท่องเที่ยวที่เหมาะเป็นลักษณะสวย ๆ ชิลล์ ๆ พอมีลูก ยิ่งหนักเลยไปไหนก็ยาก เรื่องลุยลืมไปก่อน จนลูกโต เราก็แก่ละ สังขารที่เหลืออยู่ก็ได้แต่เที่ยวแบบเดินช้า ๆ ใช้ตามองอย่างเดียวละครับ

“ทัวร์ หรือเที่ยวเอง?” คำตอบขึ้นอยู่กับ Preference ของคุณ ถ้าความสุขในการเที่ยวของคุณอยู่ที่การทำตัวช้าๆ พักผ่อน ไม่อยากเหนื่อย จงเที่ยวเองครับ แต่สำหรับผม ผมจ่ายเงินแล้ว ผมจะต้องได้ดูได้ทำมากที่สุดในเวลาที่มีอยู่ ดังนั้นโปรแกรมทัวร์บางโปรแกรมก็อาจจะตอบโจทย์ผม หรือถ้ามีโปรโมชั่นทัวร์แบบดี ๆ หลุดมา ผมก็จะแทรกคิวให้ได้ครับ อย่างที่บอก เงินมีจำกัด จะใช้ก็ต้องให้คุ้มค่า

“อย่าไปเพราะแค่มันถูก ไม่ไกล หรือแค่อยาก Check in” โดยเฉพาะถ้าคุณไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง อย่าเสียน้อยเสียยาก ในชีวิตสิบปีมานี้ทำงานงก ๆ ในกรุงเทพฯ ตลอด จะได้เที่ยวสักครั้ง แต่ดันเลือกไปสิงคโปร์ เพียงเพราะแค่มันใกล้ดีและไม่แพง ขอให้ยั้งใจคิดอีกทีว่าตั้งใจจะไปดูอะไร เพราะสิงคโปร์กับกรุงเทพ ฯ มีความใกล้เคียงกันมาก แม้แต่ร้านอาหารดัง ๆ ในสิงคโปร์ก็มาเปิดในกรุงเทพฯ หลายร้านแล้ว ทำการบ้านสักนิด เปิดอินเทอร์เน็ตดูซักหน่อย ก็จะพบว่า ในงบประมาณใกล้เคียงกันหรือเพิ่มเงินอีกนิดนึง คุณสามารถไปในที่ ๆ แปลกตากว่าสิงคโปร์มาก อย่างเช่น ตุรกี หรือ ญี่ปุ่น ได้เป็นต้น

“ไปที่เดิมซ้ำ ๆ” โดยปกติหลักเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้ว่า ถ้าเรากินอะไรซ้ำ ๆ เราก็จะมีความสุขลดลงในคำถัดไป การเที่ยวก็เช่นเดียวกัน แม้ความสุขที่ลดลงแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่มันก็ต้องลดลงแน่นอน ดังนั้น ไม่ผิดที่เราจะไปญี่ปุนเป็นครั้งที่ 8 แล้ว อาจจะเพราะเราถูกจริตกับความเป็นญี่ปุ่นมาก แต่เมื่อคุณเริ่มคิดที่จะวางแผนเที่ยวญี่ปุ่นอีกครั้ง อยากให้ลองเปิดดูที่อื่นๆด้วย บางทีอาจจะมีที่อื่นในงบประมาณและเวลาที่เท่ากันแต่ให้ความสุขคุณได้มากกว่าญี่ปุ่นในครั้งที่ 9 ก็เป็นได้ แค่เราไม่ได้หาข้อมูลไว้มากพอ

พูดเรื่องเที่ยวแล้วก็ติดลม เอาไว้ถ้ามีโอกาสผมจะมาเล่าให้ฟังว่าที่เที่ยวที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อย่างผมประทับใจที่สุด คุ้มค่าที่สุด อยากบอกต่อที่สุด คือที่ไหนกันบ้าง รอติดตามนะครับ สวัสดีวันปีใหม่ครับ