posttoday

เมื่อนักวิจัยวัยหนุ่มหัวก้าวหน้าออกมาบอกความนัยเรื่องหนี้ครัวเรือนไทย

30 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 37/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 37/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทความวันนี้ผมขอชื่นชมนักเศรษฐศาสตร์และนักวิจัยวัยหนุ่มที่ทำงานเป็นผู้บริหารในสถาบันการเงินชั้นนำ 2 ท่านที่ได้ออกมาให้ความเห็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองบางประเด็นที่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบตรงหน้างาน หรือคนที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนมาตรการแก้ไข หรือคนที่ทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลของระบบสถาบันการเงินไทยควรต้องนำมาคิด คิดต่อ คิดเพื่อขยายผลในงานของตัวเองในปี 2563

ท่านแรก อยู่กับ?สถาบันการเงินแถวซอยนานา กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงมาอยู่ในระดับ 78% ของ GDP ปัจจัยหนึ่งมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ดีขึ้น (ผู้เขียนเห็นด้วยว่า ในอดีตเรามีหนี้นอกระบบแต่ไม่ได้บันทึกไว้ พอคนตรงนี้มาก่อหนี้ในระบบได้ ตัวเลขมันก็มาโผล่ตรงนี้) แต่รายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ครัวเรือนยังต้องการสินเชื่อ แต่ความสามารถผ่อนชำระด้อยลง(ผู้เขียนคิดว่า ตรงนี้มีความเสี่ยงมาก ขีดความสามารถในการหารายได้นั้นลดลง แต่ยังต้องการสินเชื่อเพื่อไปเติมเต็มการดำเนินชีวิตเช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ จะจำเป็นหรือว่าอยากก็แล้วแต่ เมื่อได้รับอนุมัติ มันก็คือหนี้ทั้งสิ้น) เงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับ

1. ความสามารถในการหารายได้ที่แน่นอน มั่นคง ไม่วูบวาบ

2. ภาระที่จะต้องชำระหนี้ในแต่ละเดือน แต่ละงวด ไม่หนักหนาสาหัสเกินไป

3. เงินคงเหลือหลังการหักชำระหนี้มีมากเพียงพอที่จะดำรงชีวิตได้ เช่นหักหนี้ที่ชำระแล้วเหลือเงินเอาไว้ใช้จ่ายรายเดือน 9,000 บาทต่อเดือนคิดเป็น 300 บาทต่อวัน อาศัยในกทม.หรือเมืองใหญ่ ไหวไหม

ท่านยังกล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่อาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน ขณะที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้มากขึ้น (หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง) หนี้จึงเป็นเหมือนเงาตามตัวของรายได้ที่จะมีการก่อเพิ่มด้วย

ท่านที่สองเป็นผู้บริหารสังกัดสถาบันแถวสวนจตุจักรที่ออกมาระบุว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากที่ระดับ หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวเกิน 80% ของ GDP ในปี 2563 โดยท่านได้ระบุว่าความน่ากังวลอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีถึง 4.27 ล้านล้านบาทจากหนี้ครัวเรือนรวม 12.6 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นสินเชื่อบ้าน 4.14 ล้านล้านบาทและสินเชื่อเช่าซื้อ 1.5 ล้านล้านบาท

ข้อความหนึ่งที่โดนใจผมมากคือ.... หนี้ครัวเรือนบางประเภทมีความจำเป็น เช่น สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์เป็นการก่อหนี้เพื่อการดำเนินชีวิต แต่สินเชื่อส่วนบุคคลไม่รู้ว่าก่อหนี้ไปทำอะไร ซึ่งมีคนเกี่ยวข้องจำนวนมากหลายล้านลูกหนี้....

อีกประเด็นที่ท่านเปิดขึ้นมาคือสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยที่ปล่อยออกมาจากสถาบันการเงินต่างๆที่ท่านได้ระบุไว้ว่า

43% มาจากธนาคารพาณิชย์

30% มาจากสถาบันการเงินรัฐ (SFIs)

16% มาจากสหกรณ์ออมทรัพย์

10% มาจากนอนแบงก์

ผู้เขียนเห็นด้วยกับท่านว่าด้วยโครงสร้างแบบนี้ ผู้กำกับดูแลจะต้องมีพลังในการกำกับดูแล สอดส่องให้การปฏิบัติงานของสถาบันการเงินทุกประเภทเป็นไปในทิศทางเดียวกันในอันที่จะทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มอย่างมีคุณภาพ มีวินัยในการชำระหนี้ มีเงินเหลือหลังการชำระหนี้ที่เพียงพอกับการดำรงชีพ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลที่มีการสื่อสารออกมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หรือแม้แต่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) โจทย์ในปี 2563 น่าจะอยู่ที่การดูแลการให้สินเชื่อประเภท? สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

ท่านยังได้ให้ข้อแนะนำกับประชาชนว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2563 ที่คาดว่าจะยังคงชะลอตัว การคิดจะก่อหนี้บ้านหรือหนี้รถยนต์นั้นต้องคำนวณภาระการชำระหนี้ (ค่างวดที่ต้องผ่อนตามสัญญาต่อเดือน) เทียบกับรายได้ต่อเดือน (ผู้เขียนขอเรียกว่า? Debt service ratio) ถ้าตัวเลขคำนวณแล้วสูงกว่า 50% อาจถือได้ว่าลูกหนี้มีภาระชำระหนี้ต่อเดือนมากเกินไป ผลคือการใช้ชีวิตจากเงินที่เหลืออยู่นั้นมันจะมีความลำบากได้

ในส่วนของผู้เขียนคิดว่าปี 2563 จะก่อหนี้ได้ ต้องวางแผนให้ดี ดูภาระหนี้ต่อเดือน ดูเงินเหลือหลังภาระหนี้ว่าพอดำรงชีพ ก่อหนี้บนความจำเป็นไม่ใช่ความอยาก การหารายได้เพิ่มมีแนวโน้มจะทำได้ยาก สุดท้ายหนี้ครัวเรือนไทยยังจะอยู่กับครอบครัวไทย คนไทย ไปอีกพอสมควรจนกว่าจะเป็นไทครับ

ขอบคุณและชื่นชมคนเก่งของเราทั้งสองท่านมา ณ โอกาสนี้ครับ