posttoday

คาดดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังคงเกินดุล

30 ธันวาคม 2562

คอลันน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลันน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.00-30.30 ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยรายงานงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวที่ระดับปัจจุบันไปตลอดทั้งปี 2020 ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ กิจกรรมภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคมมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน

ขณะที่ทางการจีนมีกำหนดประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในสัปดาห์นี้เช่นกัน ด้านไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยมีกำหนดประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤศจิกายนที่คาดว่าจะยังเกินดุล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนธันวาคมมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 30.10 – 30.20 ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดสำคัญส่วนใหญ่หยุดทำการ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แม้ว่าการส่งออกของไทยตามระบบศุลกากรเดือนพฤศจิกายนลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2016 โดยมีสถานการณ์สำคัญอื่น คือ กระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปลงมาอยู่ที่ 1-3% ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป จากเดิมที่กาหนดไว้ที่ 2.5±1.5% กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายใหม่นี้ไม่ได้กาหนดค่ากลางไว้ เนื่องจากต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นในการดาเนินนโยบายการเงินของไทยเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยและโลกมีความไม่แน่นอนสูง และการปรับกรอบดังกล่าวเป็นไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยี การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ท และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าลงจากตามสัญญาณบวกในตลาด เนื่องจากของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยทางการจีนรายงานปริมาณนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดตั้งแต่ต้นปี 2018 ที่ 2.6 ล้านตัน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีนยังเสริมว่าจีนกำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในพิธีลงนามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 กับสหรัฐฯ ฟากสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า พิธีการลงนามข้อตกลงจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และในตอนนี้อยู่ในช่วงการแปลภาษาแล้ว ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ลดลงต่อเนื่อง เงินบาทจึงอ่อนค่าลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นระดับการหดตัวที่มากที่สุดตั้งแต่ช่วงอุทกภัยในปี 2011 ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนัก เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.150 (ณ 16.40 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัจจัยที่มีนัยสำคัญเข้ามาขับเคลื่อนตลาด ประกอบกับเป็นช่วงเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสยาวต่อเนื่องถึงปีใหม่ จึงทำให้ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง ขณะที่ในปีหน้านักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวังว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อประคองเศรษฐกิจในปัจจุบัน เป็นผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลน่าจะเคลื่อนไหวทรงตัวในระดับนี้ไปอีกพักใหญ่ และถ้าพัฒนาการของการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เชื่อว่าธนาคารกลางในบางประเทศอาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกก็เป็นได้

สำหรับประเด็นในประเทศมีประเด็นที่ทางการไทยได้ปรับลดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปลงมาอยู่ที่ 1-3% ตั้งแต่ปี 2020 จากเดิมที่มีค่ากลางที่ 2.5% บวกลบ 1.5% ซึ่งการปรับกรอบเป้าหมายในครั้งนี้เป็นไปเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาบนสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนอยู่สูง ประกอบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทั้งในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยี การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ล้วนส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ประเด็นดังกล่าวสะท้อนทิศทางของอัตราเงินเฟ้อของไทยที่มีแนวโน้มคงอยู่ในระดับต่ำไปอย่างต่อเนื่องระยะหนึ่ง กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงตลอดช่วงอายุ โดย ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.22% 1.18% 1.21% 1.25% 1.35% และ 1.48% ตามลำดับ

คาดดุลบัญชีเดินสะพัดไทยยังคงเกินดุล

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 6,628 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,497 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,124 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 7 ล้านบาท