posttoday

ตัดงบวิจัย….เพิ่มงบวิจัย?

24 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์, ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์, ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (3 ธันวาคม) ได้เกิดเหตุที่คนในแวดวงการวิชาการและการวิจัยของประเทศต้องตกใจและมึนไปตาม ๆ กัน จากการที่ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้มีมติปรับลดงบประมาณในส่วนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) จากเดิมที่กองทุนได้ขอไป 12,554 ล้านบาท โดยคณะอนุกรรมการได้ปรับลดจำนวนไป 8,000 ล้านบาท (หรือคิดเป็นสัดส่วนของการตัดลดลงถึงร้อยละ 63.7 ของงบประมาณกองทุนฯ) ซึ่งแน่นอนว่า การถูกปรับลดลงอย่างมหาศาลนี้ “เป็นเหตุผลที่ยากที่จะยอมรับได้” เนื่องจากการขาดแคลนซึ่งงบประมาณในการวิจัยและการพัฒนาย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการที่ประเทศจะยกระดับออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และเข้าสู่ประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovative-Driven Economy) เป็นกลไกการพัฒนาที่สำคัญ ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นี้เป็นหน่วยงานใหม่ (จาก สกว. เดิม) ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมและจัดสรรเงินทุนวิจัยของประเทศทั้งระบบ

แต่ด้วยความสามารถของสกสว.และภาคีเครือข่ายการวิจัยอีกหลาย ๆ แห่ง ในการอุทธรณ์และชี้แจงความสำคัญของเงินทุนก้อนนี้ ล่าสุด (17 ธันวาคม) ทางคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้อนุมัติงบประมาณกองทุน ววน. ปี 2563 จำนวน 8,000 ล้านบาทคืนแก่ สกสว. ซึ่งทำให้การพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศสามารถดำเนินต่อได้ และถือว่า “ประเทศไทยยังมีบุญอยู่ที่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตนี้ได้”

จะว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม (ซึ่งคนวงในน่าจะทราบดี) การคิดที่จะตัดงบประมาณในด้านการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนี้ เป็นกระบวนการคิดที่ผิดหลักการของการพัฒนาประเทศโดยสิ้นเชิง เนื่องจากในการจะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนวัตกรรมนั้น จำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมที่มาจาก “ฐานความรู้ (Knowledge-Based) ที่จะต้องเกิดจากกระบวนการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development) เป็นสำคัญ

ในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ความรู้ (Economics of Knowledge) ซึ่งเป็นสาขาย่อยสาขาหนึ่งทางเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายว่า ในการที่องค์ความรู้จะนำไป “การสร้างนวัตกรรม” ได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาสองด้าน ได้แก่

1. ด้านอุปทานของความรู้ (Supply of Knowledge) ซึงประกอบไปด้วยหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่ในการผลิตความรู้ (Knowledge Production) เช่น สถาบันวิจัยต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย รวมไปถึงหน่วยงานสนับสนุนให้เกิดการสร้างความรู้ต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่า ต้นทุนที่สำคัญที่สุด (Knowledge Production Cost) ในการผลิตความรู้ก็คือ 1) เงินทุน และ 2) บุคลากร

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราดูตัวชี้วัดทางด้านรายจ่ายสำหรับการทำวิจัยและการพัฒนา (R&D Expenditure) และจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยของประเทศ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรายังเป็นประเทศที่ “ล้าหลัง” ในการเป็นผู้ผลิต “ความรู้” มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยจากข้อมูลของ UNESCO Institute for Statistics พบว่า ประเทศไทยมีการใช้จ่ายด้านการวิจัยและการพัฒนาประมาณร้อยละ 0.78 (ปี ค.ศ.2016) ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ในขณะที่ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและการพัฒนาอยู่ทีร้อยละ 2.8 ของรายได้ประชาชาติ ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของรายได้ประชาชาติ ประเทศเยอรมนีมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 3.04 ในขณะที่ ประเทศอิสราเอลมีสัดส่วนสูงที่สุดในโลกคืออยู่ที่ร้อยละ 4.58 ยังไม่นับประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างประเทศจีนที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและการพัฒนาสูงถึงร้อยละ 2.13 ซึ่งเมื่อจำแนกจากแหล่งที่มาจะพบว่า ร้อยละ 75.18 ของเงินทุนด้านการวิจัยของประเทศจะมาจากภาคเอกชนเป็นสำคัญ รองลงมาได้แก่จากภาครัฐ (ร้อยละ 15.74) จากมหาวิทยาลัย (ร้อยละ 8.01) จากต่างประเทศ (ร้อยละ 0.88) และจากองค์กรไม่แสวงหากำไร (ร้อยละ 0.18) ตามลำดับ

ในขณะที่ถ้าดูจำนวนบุคลากรจะพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและการพัฒนา (R&D Personnel) อยู่ที่ 1,632 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ในขณะที่ประเทศประเทศเกาหลีใต้มีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและการพัฒนาอยู่ที่ 9,242 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน และประเทศนวัตกรรมชั้นนำอย่างเยอรมนีมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและการพัฒนาสูงถึง 8,300 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน โดยบุคลากรด้านการวิจัยของไทยโดยส่วนใหญ่จะทำงานในมหาวิทยาลัย (ร้อยละ 50.02) รองลงมาได้แก่ภาคเอกชน (ร้อยละ 39.03) และภาครัฐบาล (ร้อยละ 10.26) ตามลำดับ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าประเทศไทยจะสามารถเข้าสู่การเป็นประเทศที่ใช้ฐานความรู้ในการพัฒนาประเทศได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มเงินทุนสำหรับการวิจัยและการพัฒนาถึง 4-5 เท่าเป็นอย่างน้อย

2. ด้านอุปสงค์ของความรู้ (Demand of Knowledge) ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งที่จะทำให้ “ความรู้” การผลิตงานวิจัยและการพัฒนาออกมาให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดนั้นจึงจำเป็นที่ “องค์ความรู้ที่ผลิตออกมานั้น” จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ (Commercialization) ในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการ ไปจนถึงการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น แต่ทว่า จากผลการศึกษาพบว่า มีเพียงร้อยละ 20 (หรือน้อยกว่านั้น) ขององค์ความรู้ที่ค้นพบสามารถนำมาต่อยอดไปสู่การเป็นนวัตกรรมได้จริงที่ไม่ใช่เป็นงานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” โดยสาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัย เช่น การที่ภาคผู้ผลิตงานวิจัยและภาคผู้ใช้ไม่ได้เกิดการจับคู่ (Matching) กัน ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอันส่งผลต่อแรงจูงใจในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือหน่วยงานผู้ใช้งานวิจัยไม่สนใจนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยอย่าง สกสว. ได้พยายามสร้างรูปแบบที่จะทำให้ผู้ใช้นวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมกับผู้สร้างนวัตกรรมมากขึ้น ตั้งแต่การช่วยกันคิดโจทย์ หรือการให้ข้อเสนอแนะในการทำวิจัย ในกรณีของสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยเองในปัจจุบันก็มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า Technology Licensing Office (หรือ TLO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและส่งเสริมการอนุญาตให้ใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์

ในความคิดเห็นของผม การจัดการเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมของไทยมาถูกทางแล้ว และไทยเราเริ่มจะมีโครงสร้างการทำงานที่บูรณาการการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่ต้องมีการสร้างความเข้าใจในระดับนโยบายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งเสริมพัฒนาคนในชาติในทุกระดับตั้งแต่ระดับมหภาคถึงรากหญ้า ที่จะส่งผลกระทบถึงแม้กระทั่งการเมืองการปกครองในอนาคต และคิดว่าภาครัฐไม่ควรคิดตัดรายจ่ายในส่วนนี้ แต่ “จำเป็นต้องวางแผนการเพิ่มงบประมาณสำหรับด้านการวิจัยและการพัฒนานี้อย่างต่อเนื่อง” ด้วยซ้ำ โดยตั้งเป้าหมายในระยะแรกไว้ที่ประมาณร้อยละ 1.0 ของรายได้ประชาชาติก่อน (เพื่อให้เท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก)

ดังนั้นการถูกพิจารณาตัดงบประมาณด้านการวิจัยอย่างมหาศาลที่ผ่านมานี้ ขอให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายครับ