posttoday

จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อส่งมอบเงินมรดก ตอบโจทย์ผู้ให้...ถูกใจผู้รับ

18 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ตลาดนัดการเงิน โดย...สิริรัตน์ ลิ้มพันธ์อุดม ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ตลาดนัดการเงิน โดย...สิริรัตน์ ลิ้มพันธ์อุดม ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

อายุ 50 ปี จะแบ่งเงินจำนวน 3,000,000 บาท และมอบเป็นมรดกให้ลูก ควรจัดการอย่างไร? การวางแผนส่งมอบมรดกเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่คนส่วนใหญ่อาจละเลย หากมีเงินจำนวนหนึ่งและพร้อมจะมอบเป็นมรดกให้ลูก แต่ยังไม่ต้องการมอบให้ลูกในระยะเวลาอันใกล้ จะทำอย่างไรถึงจะส่งต่อถึงลูกได้อย่างเหมาะสม เพื่อตอบคำถามสั้นๆ นี้ได้ สิ่งสำคัญที่ผู้ให้มรดกต้องพิจารณาเพิ่มเติม มีดังนี้

• ระยะเวลาที่จะส่งมอบเงินให้แก่ทายาท เช่น อีก 10 ปี หรือ 15 ปี ข้างหน้า เป็นต้น ซึ่งจะสอดคล้องกับระยะเวลาการลงทุน การจัดสรรเงินลงทุน และตราสารที่นำไปลงทุน

• ความเสี่ยงที่ผู้ให้มรดกยอมรับได้ รวมถึงประสบการณ์การลงทุน และควรเข้าใจด้วยว่าโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงจะควบคู่ไปกับความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่สูงด้วยเช่นกัน

• การลงทุนควรได้รับผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ เพื่อรักษาอำนาจซื้อ ซึ่งค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อของไทยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ประมาณ 2.5%

นอกจากนี้ มาทำความเข้าใจประเภทของสินทรัพย์ ในมุมผลตอบแทนและความเสี่ยง เริ่มต้นด้วยเงินฝากธนาคาร เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง ผลตอบแทนต่ำ มีความเสี่ยงน้อย ตราสารหนี้ ผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของกิจการที่นำเงินไปลงทุน ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยจ่าย เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน ซึ่งผลตอบแทนขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้และระยะเวลาครบกำหนด ตราสารหนี้ที่ถูกจัดให้มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำๆ ผลตอบแทนที่ได้รับจะสูงขึ้น และมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระสูงขึ้นเช่นกัน ตราสารหนี้ที่อยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้คือตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง AAA ถึง BBB- ตราสารทุนหรือหุ้น ผู้ลงทุนอยู่ในสถานะเจ้าของกิจการ ผลตอบแทนที่จะได้รับคือเงินปันผลและส่วนต่างราคา สินทรัพย์ประเภทนี้ให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่กล่าวมาก่อนหน้า เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นควรเลือกลงทุนในบริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีความมั่นคง โดยอาจเลือกลงทุนในกลุ่มบริษัท 50 ตัวใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ (SET50) มากกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก

แน่นอนว่าใครๆก็ต้องการผลตอบแทนสูงและในขณะเดียวกันต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงควรกระจายความเสี่ยงโดยการจัดสรรเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์หลายประเภท ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพราะหากเราทุ่มเงินไปกับการลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด อาจทำให้สูญเสียเงินทั้งหมดในคราวเดียวกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงขอแนะนำทางเลือกการจัดสรรเงินลงทุน จากความเสี่ยงต่ำไปยังความเสี่ยงสูง มี 4 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ลงทุนในสลากออมสิน ลุ้นโชค ความเสี่ยงเทียบเท่าเงินฝาก
เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่มีความรู้การลงทุนมากนัก ผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างต่ำ รูปแบบการลงทุนนี้ได้รับความนิยม เนื่องจากได้ดอกเบี้ยเหมือนฝากเงินธนาคาร และได้ลุ้นรางวัลสลากออมสินหลายงวด พอครบกำหนดได้เงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ย ผลตอบแทนของสลากออมสินพิเศษ 3 ปี อยู่ประมาณ 1-2 % ต่อปี ยังไม่รวมเงินรางวัลส่วนเพิ่มหากถูกรางวัล

ทางเลือกที่ 2 พอร์ตการลงทุนความเสี่ยงต่ำ (เงินฝาก 30% ตราสารหนี้ 40% หุ้น 30%) เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ยอมรับความผันผวนได้น้อย การลงทุนส่วนใหญ่เน้นไปที่การรักษาเงินลงทุนให้ปลอดภัย ดังนั้นพอร์ตการลงทุนนี้ จึงเน้นลงทุนในเงินฝากประจำ หรือประกันชีวิตซึ่งมีความคุ้มครองชีวิต ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน ลูกจะได้รับเงินเท่ากับทุนประกันตามที่เราตั้งใจไว้ หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ สัดส่วนการลงทุนของพอร์ตนี้ จะเป็นการลงทุนในเงินฝาก 40% ตราสารหนี้ 30% หุ้น 30% โดยมีผลตอบแทนที่คาดหวังต่อปีที่ 3.79%

ทางเลือกที่ 3 พอร์ตการลงทุนความเสี่ยงปานกลาง (ลงทุนในตราสารหนี้ 50% หุ้น 50%) การจัดสรรแบบทางสายกลาง เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง มีความรู้ด้านการลงทุนอยู่บ้าง ยอมรับความผันผวนได้ระดับหนึ่งแต่ไม่มากจนเกินไปเพื่อแลกกับการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และหวังให้เงินลงทุนบางส่วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนที่คาดหวังของพอร์ต 5.53% ต่อปี

ทางเลือกที่ 4 พอร์ตการลงทุนความเสี่ยงสูง (ลงทุนในตราสารหนี้ 20% หุ้น 80%) เป็นพอร์ตการลงทุนที่กล้าได้กล้าเสีย (พอร์ตเชิงรุก) เหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงสูง มีความรู้ด้านการลงทุน มีระยะเวลาในการลงทุนค่อนข้างยาว 7 ปีขึ้นไป ทนทานต่อความผันผวนที่เกิดขึ้นระหว่างการลงทุนได้ เพราะมุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ผลตอบแทนที่คาดหวังของพอร์ตอยู่ที่ 7.27% ต่อปี

จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อส่งมอบเงินมรดก ตอบโจทย์ผู้ให้...ถูกใจผู้รับ

ที่มา : ข้อมูลย้อนหลังจาก Bloomberg ย้อนหลัง 10 ปี
*ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คือค่าความเสี่ยงหรือความผันผวน เช่น หุ้นไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนอยู่ระหว่าง 8.43 ± 14.60 หรือเท่ากับ -6.17 ถึง 23.03 ณ ระดับความเชื่อมั่นที่ 68%

จะเห็นได้ว่า ทางเลือกที่ 1 ซื้อสลากออมสินมีความเสี่ยงต่ำและให้อัตราผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงของทางเลือกนี้คือค่าเสียโอกาสเพราะผลตอบแทนที่ได้ไม่ชนะเงินเฟ้อ ซึ่งจะกัดกินมูลค่าเงินในอนาคต เพื่อเพิ่มผลตอบแทน ควรจัดพอร์ตการลงทุนตามทางเลือกที่ 2,3 และ 4 ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการลงทุนควรคำนึงถึงความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ความเสี่ยงด้านราคาหลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากภัยธรรมชาติ การเมือง เป็นต้น

ไม่ต้องกังวลสำหรับท่านที่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก ท่านสามารถเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ อีกทั้งสามารถใช้ ประกันควบการลงทุน (Unit linked) เป็นเครื่องมือในการวางแผนร่วมด้วยได้ ซึ่งประกันแบบนี้เป็นการรวมระหว่างประกันชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม มีทั้งความคุ้มครองชีวิต และสร้างผลตอบแทน โดยสามารถจัดพอร์ตการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกทั้งหากผู้ทำประกัน(ผู้ให้มรดก)เสียชีวิต ผลประโยชน์จะตกอยู่กับผู้รับผลประโยชน์ (ลูก) ได้รับเงินเท่ากับหรือมากกว่าผลประโยชน์กรณีมรณกรรม

ข้อควรระวังสำหรับผู้มอบมรดกที่มีทรัพย์สินส่งมอบเกิน 100 ล้านบาท จะมีการจ่ายภาษีมรดกในอัตรา 5% และ 10% สำหรับมอบให้ทายาทและบุคคลทั่วไป หากให้ทรัพย์สินก่อนเสียชีวิต จะมีภาษีการให้ ที่เสียภาษี 5% ในกรณีที่ให้ทรัพย์สินแก่ทายาทเกิน 20 ล้านบาท และให้ทรัพย์สินแก่บุคคลอื่นเกิน 10 ล้านบาท สำหรับท่านที่มีทรัพย์สินมาก ควรจะมีการวางแผนการส่งมอบทรัพย์สินเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีมรดกและภาษีการให้น้อยที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมาย

การจัดพอร์ตลงทุนข้างต้นเป็นเพียงแนวทางที่ทำให้เข้าใจถึงวิธีการจัดสรรการลงทุน เพราะในความเป็นจริงไม่มีเกณฑ์ตายตัวที่จะบอกถึงสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสมมติฐาน เกี่ยวกับผู้ให้กับผู้รับเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่ต้องการ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ประสบการณ์การลงทุน รวมถึงระยะเวลาที่ต้องการส่งมอบ แนวคิดนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำมาช่วยวางแผนและส่งต่อความมั่งคั่งไปสู่ลูกหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น