posttoday

Green Assets ทางเลือกลงทุน สร้างทั้งผลตอบแทนและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

18 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ Wealth Management

คอลัมน์ Wealth Management

เรื่อง : Green Assets ทางเลือกลงทุน สร้างทั้งผลตอบแทนและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

โดย ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูล และธวัชชัย วงศ์รัตนศิริกุล บลจ.บางกอกแคปปิตอล

....................................................................................................

แนวการลงทุนตามองค์ประกอบของ ESG (ESG Factors Investing) กำลังเป็นกระแสของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันประเมินว่ามีเม็ดเงินจำนวนมากกว่า 3 ล้านล้านเหรียญฯสหรัฐฯ ลงทุนอยู่ในทรีม ESG และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว นักลงทุนสถาบันเชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนที่รวมเอาเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคม และการมีธรรมภิบาลที่ดีต่อนักลงทุน เข้ามารวมในการทำธุรกิจอย่างถูกต้องจะสามารถช่วยสร้างผลประกอบที่ดีและการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

นอกจากนักลงทุนสถาบันเองที่สนใจใน ESG หน่วยงานรัฐฯและธนาคารกลางเองต่างก็ให้ความสนใจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของรักษาสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ประเทศในกลุ่มทวีปยุโรปมีการเก็บการภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือภาษีสิ่งแวดล้อมที่จัดเก็บเนื่องจากบริษัทใช้คาร์บอนเป็นส่วนประกอบของเชื้อเพลิงในการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งหากบริษัทสามารถลดปริมาณคาร์บอนได้มากก็จะสามารถส่งผลต่อกำไรของบริษัทเนื่องจากการประหยัดของภาษี

แม้ว่าหน้าที่หลักของธนาคารกลางคือ การต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือบางครั้งอาจจะมีบทบาทในการประคับประคองการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ให้ผันผวนตามวัฎจักรมากเกินไป แต่ในระยะหลังบทบาทของธนาคารกลางที่ช่วยรักษาสิ่งแวดก็เริ่มชัดเจนขึ้น โดยมีการรวมกลุ่มกันของธนาคารกลางในชื่อว่า The Network for Greening the Financial System (NGFS) เพื่อกำหนดแนวทางในการศึกษาผลกระทบของภาวะโลกร้อนและการประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในระบบการเงินจากธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันภัย ปัจจุบันมีธนาคารกลางที่ร่วมเป็นสมาชิกถึง 54 ประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกเช่นกัน

แต่ที่น่าสนใจคือ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) กลับไม่ได้อยู่ในกลุ่มสมาชิกของ NGFS แม้ว่าสหรัฐฯ เองจะเป็นประเทศที่สร้างมลพิษสูงถึง 15% ของจำนวนมลพิษที่ถูกผลิตขึ้นทั้งหมดในโลก ซึ่งตรงนี้ก็อาจเป็นการสะท้อนแนวนโยบายของฝั่งการการเมืองตาม ปธน.ทรัมป์ ที่ถอนตัวของจากข้อตกลงปารีสหรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือเพื่อช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ตรงกันข้ามกับธนาคารกลางของจีนหรือ PBoC ที่มีส่วนในการจัดตั้งกลุ่ม NGFS และมีส่วนในการกำหนดรูปแบบและคำจำกัดความ Green Bond ซึ่งต่อมา PBoC ก็กำหนดนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์สามารถใช้ Green Bond มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับทางธนาคารกลางได้ และกำหนดมูลค่าในหลักทรัพย์ที่เป็น Green Assets ที่สูงกว่าหลักทรัพย์ชนิดใกล้เคียงหากนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ในแง่ของความเสียหายของระบบการเงินต่อผลกระทบของสิ่งแวดล้อม นาย Mark Carney ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าธนาคารกลางของอังกฤษ และอดีตผู้ว่าธนาคารกลางแคนาดา เคยให้ความเห็นว่าผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอาจจะสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้ เช่น ผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างน้ำท่วมอาจจะทำให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาล หรือพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์อาจลดลงจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีความเสียหาย และการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของเนเธอร์แลนด์ได้ศึกษาผลกระทบดังกล่าวและมีข้อสรุปว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศเนเธอร์แลนด์จะได้รับความเสียหายประมาณ -3% จากมูลค่าสินทรัพย์ที่ปล่อยให้สินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ในขณะที่บริษัทประกันและกองทุนเพื่อการเกษียณจะได้รับผลกระทบในส่วนที่ถือครองหุ้นกู้เอกชนและหุ้นบริษัทเอกชนที่ตนเองถืออยู่ ส่งผลให้กองทุนขาดทุนได้สูงถึง 10%

นาง Christine Lagarde แถลงแนวนโยบายการเงินต่อรัฐสภายุโรป เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่า ECB มีแผนที่จะทบทวนนโยบายทางการเงินใหม่ โดยการรวมผลกระทบของภาวะโลกร้อนเข้าไปในการกำหนดนโยบายการเงินด้วย ซึ่งในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า ECB จะใช้นโยบาย Green Quantitative Easing

กล่าวคือ ปัจจุบัน ECB ถือรองหุ้นกู้เอกชนจำนวน 2.03 แสนล้านเหรียญฯสหรัฐฯ โดย 1 ใน 3 ของเงินดังกล่าวอยู่ในบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities) และนโยบาย Green QE คือการเลิกการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มดังกล่าว และย้ายเข้ามาสู่กลุ่มที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังานสีเขียว และ/หรือ การออกกฎให้ธนาคารกลางเลิกรับหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ดังนั้นในแง่ของนักลงทุนจะเห็นว่าสินทรัพย์ที่เข้าข่ายธุรกิจสีเขียว หรือ Green Business จะมีความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งในแง่ของนักลงทุนสถาบันที่เล็งเห็นการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ในแง่ของแรงสนับสนุนจากภาครัฐฯ ในการลดอัตราภาษีและสร้างผลกำไรในการประกอบธุรกิจ และการออกกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยให้เกิดอุปสงค์ใน Green Assets ที่เพิ่มมากขึ้น