posttoday

จัดพอร์ตกองทุนลดหย่อนภาษี

17 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ คู่คิดนักลงทุน

คอลัมน์ คู่คิดนักลงทุน

เรื่อง จัดพอร์ตกองทุนลดหย่อนภาษี

โดย บรรณรงค์ พิชญากร

กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล. บัวหลวง

................................................................................

พอถึงช่วงปลายปี อากาศเย็นๆ หลายท่านวางแผนเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยวปีใหม่ ซึ่งปีนี้อากาศดีหนาวเย็นกว่าปกติต่างจากปีที่ผ่านๆมา อย่างไรก็รักษาสุขภาพกันด้วยครับ พอถึงช่วงปลายปี มีเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนที่ค่อนข้างสำคัญ ที่หลายท่านยังไม่ได้ลงมือ คือ ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี LTF และ RMF ก็คงต้องรีบวางแผนกันครับ เพื่อเตรียมตัวลงทุนกันให้ทันในปลายปีนี้

LTF และ RMF ถือว่า เป็นกองทุนที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้มีรายได้ สามารถลงทุนแบบมีแต้มต่อ โดยเอาไปลดหย่อนภาษีได้ และถือว่าเป็นช่องทางการลดหย่อนได้มากที่สุดสำหรับผู้มีรายได้ บุคคลธรรมดาถ้ารู้จักใช้ และวางแผนใช้ให้เต็มที่ อย่างไรก็ต้องศึกษาขัอมูลด้วยครับ เพื่อไม่ให้พลาด จนผิดเงื่อนไขการลงทุน

โดยที่ผ่าน ด้วยการสนับสนุนทางภาครัฐสามารถนำค่าซื้อมาลดหย่อนภาษีได้ ทำให้กองทุนลดหย่อนภาษีเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเม็ดเงินที่ลงทุน LTF อยู่ที่ประมาณ 3.9 แสนล้านบาท และ RMF มีประมาณ 2.8 แสนล้านบาท ทั้งคู่ถือว่าใหญ่ทีเดียว และคิดเป็นประมาณสัดส่วนประมาณ 13.5% ของมูลค่ากองทุนรวมเลยทีเดียว นักลงทุนเองก็เห็นประโยชน์และความสำคัญที่จะออม ลงทุนในระยะยาว ซึ่งทำให้ตลาดการลงทุนในบ้านเรามีเสถียรภาพดีมากขึ้น

แต่อย่างที่ทราบปีนี้เป็นปีสุดท้ายของ LTF และจะมีกองทุนลดหย่อนภาษี ที่มาทดแทน คือ กองทุน Super Saving Fund (SSF) ถึงแม้จะเป็นปีสุดท้ายก็อย่าลืมใช้สิทธิ์ลงทุน เพื่อลดหย่อนภาษีครับ กองทุน LTF แม้จะไม่ขยายเวลา แต่ทางกองทุนก็ยังบริหารจัดการกองทุนเป็น ปกติ

หลายท่านกังวลว่ากองทุน LTF ผลงานอาจจะไม่ active เหมือนเดิม เพราะไม่มีเงินก้อนใหม่ใส่เข้ามา มีแต่จะทยอยไถ่ถอน ครับ . ถึงแม้ว่าจะไม่มีเงินใหม่เข้ามา แต่ด้วยขนาดของ LTF ที่มี 3.9 แสนล้านบาท ทางกองทุนแต่ละที่ ก็ยังคงต้องทำหน้าที่เต็มที่ เพื่อรักษาผลงานของตัวเองให้ดี ไม่งั้นถูกโยกสับเปลี่ยนได้ และที่ผ่านมาหลายท่านที่ลงทุนใน LTF แล้วครบเงื่อนไข ก็ยังไม่ไถ่ถอนออกยังคงลงทุนต่อเพราะเห็นว่าโดยรวมให้ผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างดี

ในส่วนกองทุน SSF ที่มาทดแทนในปีหน้าเป็นต้นไป เงื่อนไขการลงทุนแตกต่างจาก LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นไทย เป็นเลือกลงทุนหลักทรัพย์ประเภทใดก็ได้ ดูแล้วคล้าย RMF แต่ลงทุนให้ครบ 10 ปี โดยไม่ต้องรอถึงอายุ 55 ปี ก็สามารถไถ่ถอนขายคืนได้ โดยผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ 30% ของรายได้ทั้งปี แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมการลงทุนลดหย่อนประเภทอื่นๆ อย่าง RMF กบข.สำรองเลี้ยงชีพ ประกันประเภทบำนาญ จะไม่เกิน 5 แสนบาท จากเดิมที่แยกคำนวณ ลงทุนสูงสุดรวม LTF และ RMF ได้ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งทำให้ผู้มีรายได้ ต่อปีไม่เกินประมาณ 1.66 ล้านบาท สามารถลงทุนให้ครบได้เม็ดเงินจำนวนที่มากขึ้น ส่วนท่านที่รายได้สูงกว่านี้จะลงทุนได้น้อยลง ซึ่งปีหน้าทางบลจ.ต่างๆ ก็คงมีกองทุน SSF ออกมาให้ท่านเลือกลงทุนตามความต้องการ

ส่วนปีนี้การลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ควรมีการจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์การลงทุนให้หลากหลาย โดยเฉพาะ RMF ครับ เชื่อว่าหลายท่านยังไม่ได้ลองลงทุนในส่วน ของ RMF เลย โดยดูจากยอดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ LTF มี 3.9 แสนล้านบาท

ในขณะที่ RMF มี 2.8 แสนล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากมองว่าเป็นการวางเงินที่ยาวมาก คือ ต้องต่อเนื่อง 5 ปี และอายุผู้ลงทุนต้องอายุถึง 55 ปี แล้วจึงจะทำการขายได้ แต่ในแง่การลงทุนแล้ว สินทรัพย์เสี่ยงมีความผันผวน แต่ระยะเวลาการลงทุนที่ยาว บวกกับการลงทุนที่สม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

จุดเด่น RMF คือ มีประเภทสินทรัพย์ที่หลากหลายให้นักลงทุนเลือก ทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้แต่สินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ และไม่จำกัดว่าจะลงทุนได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น ไปลงทุนต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งเป็นข้อดีมากๆที่นักลงทุนจะกระจายความเสี่ยงไม่กระจุกสินทรัพย์ภายในประเทศเท่านั้น

เวลาเรามองเรื่องการลงทุนควรทำการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ดี และหลากหลายประเภท ซึ่ง RMF จะตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ปีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีครับ

อย่างปีนี้หุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมา แทบไม่ไปไหน แต่ตลาดอย่าง สหรัฐฯ ทำ new high ตลาดจีน ยุโรป ญี่ปุ่น ให้ผลตอบแทนที่ดีในระดับ 2 หลัก ซึ่งข้อดีตรงนี้เราเอามาผสมผสานกับ LTF ที่จำกัดการลงทุนได้เฉพาะในหุ้นไทย และเมื่อท่านลงทุนใน LTF ซึ่งเป็นหุ้นไทยเต็มที่แล้ว ในส่วนของกองทุน RMF ควรจะมีการกระจายในตราสารหนี้ หุ้นต่างประเทศ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสัดส่วนจะเป็นเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะความเสี่ยงที่ท่านรับได้

สำหรับท่านที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง คาดหวังผลตอบแทน 4-8% ตอ่ปี ก็ควรจัดพอร์ต RMF ให้มี ตราสารหนี้ 50% ที่เหลืออาจจะเป็นสินทรัพย์เสี่ยงที่ประกอบด้วยหุ้นไทย 15% กองทุนหุ้นต่างประเทศ 15% กองทุนอสังหาริมทรัพย์ REIT โครงสร้างพื้นฐาน 15% และกองทุนทองคำ อีก 5% การจัดพอร์ตประมาณนี้ ทำให้พอร์ต RMF ของท่านมีความสมดุล ไม่เหวี่ยงจนเกินไปนัก และนำไปปรับใช้กับกองทุน SSF ที่จะเปิดในปีหน้าก็ได้ครับ

ถ้าท่านนักลงทุนอยากได้รับคำแนะนำเรื่องการวางแผนการจัดพอร์ตการลงทุนทั้งกองทุนปกติ หรือ กองทุนประหยัดภาษี LTF RMF ทาง บล.บัวหลวง มีผู้แนะนำการลงทุนที่คอยให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาที่ 02 618 1111