posttoday

เศรษฐกิจที่โตจากการบริโภค - อ้วนขึ้นบ้างแต่ไม่แข็งแรง

17 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; [email protected]

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจนั้น ๆ เป็นเป้าหมายหลักหนึ่งของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ การตั้งความหวังให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงศักยภาพที่ลดน้อยถอยลงของระบบเศรษฐกิจ และนำเอาเงื่อนไขนั้นมาตั้งเป็นเป้าหมายของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศได้ มาตรการทางการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความอ่อนไหวต่อข้อผิดพลาดในเรื่องนี้ และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจได้อีกในระยะกลางและในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการกระตุ้นการบริโภค และการเสพติดมาตรการกระตุ้น เหมือนคนที่ต้องพึ่งพาสารกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา

มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นหรือสนับสนุนให้เกิดการบริโภคนั้นมีความสุ่มเสี่ยงหลายประการ เช่น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมการก่อหนี้เพราะเสพติดการบริโภค (คือการบริโภคหลายอย่างไม่มีความจำเป็นต้องบริโภค แต่ประชาชนถูกกระตุ้นให้บริโภค ก็เลยบริโภค) มีความสุ่มเสี่ยงที่มาตรการจะไม่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้เกิดความไม่เท่าเทียม ซ้ำเติมปัญหาความเหลื้อมล้ำของประเทศมากขึ้นไปอีก เพราะมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคนั้น เงื่อนไขของความสำเร็จของมาตรการอยู่ที่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Value Added) ที่มากกว่าเม็ดเงินที่ภาครัฐใช้ในการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคนั้น

กล่าวคือ ถ้ารัฐใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ผลจากการบริโภคมากขึ้นนั้น ต้องก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท จึงจะเรียกได้ว่ามีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าไม่อย่างนั้น มาตรการทางการคลังนั้นก็ไม่แตกต่างอะไรกับการที่รัฐเป็นคนใช้จ่ายงบประมาณก้อนนั้นเอง ซึ่งว่ากันจริง ๆ แล้วรัฐก็มีทางเลือกอื่นอีกหลายทางเลือกในการใช้จ่ายงบประมาณก้อนนั้น

มาตรการทางการคลังในการกระตุ้นการบริโภคจึงเปรียบได้กับการให้อาหารเสริมกับคนไข้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นบ้างในการที่จะรองรับการรักษาโรคหรือปัญหาที่มีอยู่อย่างแท้จริง ซึ่งอาจจะต้องใช้ยาแรง ใช้วิธีการรักษาที่จะทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวด ต้องทรมานกันอยู่พอสมควร ปัญหาคือ ในทางการเมืองเราก็มักจะเห็น หรือได้รัฐบาลที่อยากเข้ามาให้ "อาหารเสริม" มากกว่ารัฐบาลที่จะเข้ามาเพื่อให้ยาแรงในการรักษาโรคหรือปัญหาที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ

อาการโรคอ้วนของระบบเศรษฐกิจนั้นสะท้อนออกมาให้เห็นได้หลายปีมาแล้ว เพียงแต่มีคนให้ความสำคัญและให้ความสนใจน้อย คือ ปัญหาเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งอยู่ในระดับสูง และถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปอีกก็จะพบว่า โครงสร้างของการเป็นหนี้ และขีดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นอยู่ ไม่ได้เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมาเลย เรียกว่า ตราบใดที่ยังเห็นตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ก็รู้สึกใจชื้น ไม่ได้คิดว่าเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างประดังอยู่มาหลายปีแล้วเช่นเดียวกัน

เงื่อนไขที่สำคัญคือ เราเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง การที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2% หรือ 3% หรือสูงกว่านั้นก็ตามแต่ มันเป็นค่าเฉลี่ย ไม่ได้หมายถึงว่า "คนส่วนใหญ่" มีรายได้สูงขึ้นตามค่าเฉลี่ยนั้น การสะสมพอกพูนของหนี้ชี้ให้เห็นว่าคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้รับการดูแลด้วยมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสม มีรายได้ที่ไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย (ซึ่งส่วนของรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพ ผู้เขียนก็ได้เคยให้ความเห็นไปในบทความที่เขียนไปก่อนหน้าที่แล้วว่าตัวเลขที่ใช้แสดงค่าครองชีพที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริงตามสภาวะการใช้จ่ายของประชาชนโดยทั่วไป และในแต่ละพื้นที่)

การใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และมีการคำนึงถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ว่ากระตุ้นให้บริโภคกันไปก่อน และเพื่อให้มีความเท่าเทียม ไม่ถูกตำหนิว่าให้กลุ่มนั้น ไม่ให้กลุ่มนี้ ก็แจกจ่ายให้บริโภคกันอย่างเท่าถึง เมื่อบริโภคกันจนเป็นหนี้แล้ว ก็มาเรียกร้องกับรัฐให้ออกมาตรการในการช่วยเหลือเพื่อจัดการกับหนี้ที่เกิดขึ้น หรือที่มีอยู่ วนกันไปเรื่อย ๆ ไม่มีจบ (คือปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข) Promotion ต่าง ๆ ที่ออกมาควบคู่ หรือสนับสนุนมาตรการกระตุ้นการบริโภค จึงไม่ใช่เรื่องน่ายินดีมากนักสำหรับผู้ดำเนินนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

แท้จริงแล้วสิ่งที่เราอยากได้จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจคือ การให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีมาตรฐานการครองชีพที่ดี หรือยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น ซึ่งการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องมั่งคั่งหรือร่ำรวยเหมือนกันหมด แต่คุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องมีสังคมที่ดี มีความปลอดภัยความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนได้รับการตอบสนองได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เป็นสังคมที่เข้าใจซึ่งกันและกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน คนในสังคมไม่แก่งแย่ง จ้องจะทำร้ายหรือเอารัดเอาเปรียบกันตลอดเวลา จึงจะเรียกว่าเป็นสังคมน่าอยู่ก็น่าจะได้

เพียงแต่ว่าเงื่อนไขสำคัญหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมนั้น คือ การสร้างให้คนในสังคมมีรายได้สูงขึ้น มีความมั่งคั่งมากขึ้น แล้วก็อนุมานว่าเมื่อประชาชนรายได้สูงขึ้นแล้วสังคมโดยรวมก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เมื่อเป็นอย่างนั้น การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เราจึงมักหลงไปให้ความสำคัญกับการที่ต้องทำให้เกิดการสร้างรายได้ ใช้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ มากมายเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่อาจจะหลงไปว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้นั้นเป็นเพียงเงื่อนไขหนึ่งที่จะนำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เท่านั้น อาจจะเป็นเงื่อนไขจำเป็น (Necessary Condition) แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกหลายเงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ตามระดับของการพัฒนาของประเทศในระดับที่แตกต่างกัน ที่จำเป็นจะต้องสร้างให้มีเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะนโยบายมหภาคที่มุ่งเน้นให้เกิดการบริโภค ซึ่งก็อาจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้บ้างจากการบริโภคนั้น แต่การบริโภคที่ถูกสร้างขึ้นนั้นอาจจะไม่ได้เป็นการบริโภคที่มีพื้นฐานมาจากความต้องการ (Needs) มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นนั้น ก็จะเป็นความต้องการเพียงชั่วคราว ไม่มีความยั่งยืน และอาจจะไม่ได้เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างแท้จริง

จริง ๆ แล้ว การกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจไม่ได้เป็นหน้าที่ของผู้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนในระดับเศรษฐกิจที่สามารถจะทำบทบาทของตัวเองได้ โดยมีเป้าหมายว่าอยากทำให้ชุมชน บ้านเมืองของตัวเองน่าอยู่ ลด เลิก พฤติกรรมที่เป็นการแก่งแย่ง เอาเปรียบสังคมเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ประพฤติปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ ใครทำผิดสังคมก็อย่าไปยอมรับ กฎหมายจะเอาผิดได้หรือไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แสดงให้เห็นว่าสังคมนี้ไม่ยอมรับ การทำให้สังคมหรือประเทศ (ด้วยพฤติกรรมของคนในประเทศ) มีความน่าอยู่ได้ (เหมือนกับที่เวลาเราไปท่องเที่ยวในต่างประเทศแล้วรู้สึกว่าประเทศเขาน่าอยู่นั่นแหละ) เป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดี ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก และมีความยั่งยืน