posttoday

กาแฟธรรมดา...ที่ไม่ธรรมดา

10 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; [email protected]

กาแฟร้อนหอมกรุ่นรสเลิศคงเหมาะกับอากาศหนาวเย็นยามเช้าในช่วงนี้ หลายท่านที่หลงใหลในรสชาติของกาแฟคงได้เคยลิ้มลองดื่มกาแฟหลากหลายประเภท และหลายท่านจัดให้กาแฟเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน สนนราคากาแฟที่แต่ละท่านดื่มแตกต่างกันไปตามคุณภาพและความยินดีจ่าย กาแฟแก้วที่แพงที่สุดที่ท่านเคยดื่มราคาแก้วละเท่าไร แล้วท่านคิดว่ากาแฟที่แพงที่สุดควรมีราคาเท่าไร

กลางปีที่ผ่านมา ทั้ง USA Today และ BBC ได้เผยแพร่ข่าวการขายกาแฟของ Klatch Coffee ผู้จำหน่ายกาแฟในสหรัฐอเมริกา ซึ่งชนะการประมูลกาแฟ Elida Geisha ด้วยราคา 1,768.72 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม (หรือ 803 เหรียญ ต่อปอนด์) ในขณะที่ราคาเมล็ดกาแฟสาร (Green Bean) ทั่วไปต่ำกว่า 1 เหรียญ โดย Klatch ได้นำกาแฟที่ประมูลได้มาขายปลีกให้นักดื่มกาแฟทั่วไปในราคาแก้วละ 75 เหรียญ หรือประมาณ 2,285 บาท ในขณะที่กาแฟคุณภาพดีทั่วไปขายในราคาเพียงแก้วละ 5 เหรียญ (ประมาณ 152 บาท) เท่านั้น

Elida Geisha เป็นกาแฟจากไร่กาแฟขนาดเล็กในเมือง Boquete สาธารณรัฐปานามา ซึ่งชนะการประกวด The Cup of Excellence ที่จัดโดย the Alliance of Coffee Excellence และนับเป็นการประกวดคุณภาพกาแฟที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด โดยกาแฟสายพันธุ์ Geisha หรือ Gesha เป็นกาแฟอะราบีกาที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเอธิโอเปีย ได้รับการพัฒนาพันธุ์ในประเทศคอสตาริกา และมีการขยายการปลูกไปยังปานามา กาแฟพันธุ์นี้ต้องใช้เวลาปลูกนานกว่ากาแฟทั่วไปจึงจะเก็บผลผลิตได้ เข้าตำรา ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม อีกทั้งยังมีอัตราการรอดของต้นกาแฟน้อย และมีปริมาณผลผลิตที่ต่ำ หรืออาจกล่าวได้ว่า ของดีนั้นมีน้อย

สี่เดือนต่อมา ได้มีข่าวการซื้อขายกาแฟที่แพงที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการขายกาแฟของบริษัท Ninety Plus ให้กับบริษัท Expresso Lab ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในราคา 10,000 เหรียญ ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 304,582 บาทต่อกิโลกรัม แต่มิได้เปิดเผยถึงรายละเอียดอื่น ๆ และมิได้ขายปลีกให้นักดื่มกาแฟทั่วไปได้ลิ้มลอง Ninety Plus เป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยชาวสหรัฐอเมริกาที่ไปดำเนินกิจการไร่กาแฟที่ประเทศปานามาและเอธิโอเปีย ... ตัวอย่างการซื้อขายกาแฟข้างต้นช่างสอดคล้องกับคำพูดของผู้บริหารบริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด ผู้ที่ทำให้กาแฟไทยมีชื่อเสียงในวงการกาแฟโลก ที่ว่า “กาแฟก็คือทองคำสีดำนั่นเอง”

กาแฟสามารถแบ่งสายพันธุ์แบบหยาบได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ โรบัสต้า และอะราบีกา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกาแฟอะราบีกาจะมีราคาสูงกว่า การพัฒนากาแฟให้สามารถขายได้ในราคาสูงแบบที่ทำให้ราคาเปลี่ยนจากกิโลกรัมละ 1 เหรียญ เป็นกิโลกรัมละกว่า 1,000 เหรียญนั้นมาจากการเพาะปลูกในสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม เช่น กาแฟอะราบีกาเหมาะกับการปลูกในที่สูงที่มีอุณหภูมิต่ำซึ่งจะทำให้เมล็ดกาแฟสุกช้า จึงสามารถดูดซับแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์จากดินได้เต็มที่ นอกจากนี้ ความเพียรพยายามนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้กาแฟมีคุณภาพดีและขายได้ราคาสูง การค้นคว้าหาความรู้ การทดลองเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง อาทิ การทดลองปลูกในพื้นที่ที่ได้รับแสงต่างกัน และการปลูกพืชที่ให้ร่มเงากับต้นกาแฟที่แตกต่างกันก็จะส่งผลให้กาแฟมีคุณภาพต่างกัน เนื่องจากใบไม้หรือผลที่ตกลงสู่พื้นทำให้กาแฟได้รับแร่ธาตุหรือปุ๋ยตามธรรมชาติที่ต่างกัน

การพัฒนาคุณภาพของกาแฟเช่นนี้ทำให้ ชาวไร่กาแฟมีอำนาจในการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดราคา แทนที่จะเป็นผู้รอรับราคาที่กำหนดโดยผู้ขาย หรืออาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาคุณภาพกาแฟเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างตลาดของสินค้า จากการเป็นผู้ขายในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ สู่การเป็นผู้ขายในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ชาวไร่กาแฟซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องการขยายขนาดพื้นที่เพาะปลูกก็สามารถเพิ่มรายได้และกำไรของตนได้ด้วยการพัฒนาคุณภาพกาแฟ การพัฒนาคุณภาพกาแฟนี้จึงส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไร่กาแฟด้วย

นอกจากนี้ การปลูกไม้ยืนต้น อาทิ แมคคาเดเมีย และอะโวคาโด เพื่อให้ร่มเงาจะช่วยยืดอายุต้นกาแฟ เพิ่มรายได้จากการนำผลของไม้ยืนต้นไปขาย และช่วยกระจายความเสี่ยงหากมีโรคระบาดหรือแมลงศัตรูพืชจำนวนมากในปีนั้น การปลูกไม้ยืนต้นยังมีผลกระทบภายนอกเชิงบวกต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ภูเขาหัวโล้นกลับมาเขียวชอุ่มได้ และเป็นการป้องกันการพังทลายของหน้าดินด้วย การพัฒนาการปลูกกาแฟแบบนี้จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งกับชาวไร่กาแฟและกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสินค้าสาธารณะหรือของส่วนรวม และนับเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ... ผู้เขียนจึงอยากเห็นแนวทางการกำหนดนโยบายที่สนับสนุนภาคเกษตรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอันก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนแบบนี้กับสินค้าเกษตรหลาย ๆ ประเภท ซึ่งหากทำได้ประเทศไทยจะมีภาระทางการคลังน้อยลง และจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความมั่นคงทางด้านอาหารค่ะ