posttoday

ลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG : ก.ล.ต. ขอเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

07 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

เรื่อง ลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG : ก.ล.ต. ขอเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

โดย เสาวนีย์ สุวรรณรงค์

ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน

ทีมโฆษก และฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานก.ล.ต.

......................................................................

ครั้งก่อนเราพูดถึงความสำคัญของความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการระดมทุน มูลค่าสินทรัพย์ ผลการดำเนินงาน ความอยู่รอดของธุรกิจ ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการ รวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับด้วย

สถิติระบุว่าการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านล้านเหรียญในปี 2559 มาอยู่ที่ 31 ล้านล้านเหรียญในปี 2561 คิดเป็น 33% ของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดของผู้ลงทุนสถาบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณว่าผู้ลงทุนสถาบันทุกแห่งเน้นให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

สำหรับตลาดทุนไทย กลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น โดย ก.ล.ต. มีบทบาทในการสร้างจิตสำนึกตระหนักรู้ด้าน ESG ด้วยการกำหนด “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน” หรือ I Code ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อ ESG

ปัจจุบันมีหน่วยงานเข้าร่วมรับการปฏิบัติตาม I Code จำนวน 64 ราย ในจำนวนดังกล่าวมี บลจ. 26 ราย นอกจากนี้ ยังมี บลจ. อีก 22 รายที่ประกาศเจตนารมณ์ลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทที่ไม่คำนึงถึง ESG (Negative List) ร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และผู้ลงทุนสถาบันอื่น ๆ อีก 10 ราย (มี AUM รวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 377 กองทุน จากนายจ้างจำนวน 19,316 ราย จำนวนสมาชิกรวม 3.06 ล้านกว่าคนขนาดเงินลงทุนรวมกันใหญ่กว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการจัดโครงการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2555 ที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ปี 2561 ได้นำ I Code มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการให้คะแนนด้วย

ก.ล.ต. ขอเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดแนวนโยบายให้กับ บลจ. ที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของพนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินตามแนวนโยบาย ESG โดย “ไม่ให้ลงทุนในกิจการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบในระยะยาวที่อาจเกิดกับการลงทุนของสมาชิก เน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ดำรงอยู่และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป โดยจะกำหนดนโยบายดังกล่าวสำหรับกองทุนส่วนบุคคลของ ก.ล.ต. ด้วย

ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การผลักดันเรื่องดังกล่าวจะเห็นผลเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันในตลาดทุนและภาคการเงินต่อไป เพราะ “หากโลกยั่งยืน ธุรกิจก็ยั่งยืน ผลการลงทุนก็ยั่งยืน”