posttoday

ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (ตอนจบ)

05 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย (ตอนจบ)

โดย วรวรรณ ธาราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง

***************************************

จากการสำรวจของ Facebook เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ชนชั้นกลางของไทยมีสูงถึง 49 ล้านคน หรือ 73% ของคนทั้งประเทศ และจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางในต่างจังหวัด เพราะพวกเขาเข้าถึงเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และโลจิสติกส์ที่มากยิ่งขึ้น

สรุปได้ว่า เศรษฐกิจจะอยู่ไม่ได้ จะไม่สามารถพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิตัล หากขาดการบริโภค หรือการมีส่วนร่วมของชนชั้นกลาง

แต่จากรายงานล่าสุดที่ประเมินฐานะเศรษฐกิจไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) พบว่า แม้ไทยจะมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในเชิงมหภาคอยู่ในระดับที่มั่นคง แต่มีปัญหาเรื่องการดูแลสวัสดิการของประชาชนโดยรวม เนื่องจากไม่มีโครงข่ายรองรับทางสังคมที่ดีพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มประสิทธิภาพของการแข่งกัน การลดความเหลื่อมล้ำ และการให้ทุกคนมีโอกาสได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ

เพราะแม้ว่าเราจะมีโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรคสำหรับคนรายได้น้อย รวมไปถึงโครงการประกันสังคมสำหรับผู้ทำงาน แต่สวัสดิการทางสังคมเหล่านี้ยังไม่พอ ทั้งยังไม่แน่ใจว่า โครงการเหล่านี้จะมีเงินพอกับรายจ่ายในอนาคตหรือไม่

ในขณะที่ข้าราชการจะมีสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีเงินบำนาญไว้ใช้ยามปลดเกษียณ หรือผู้ที่เป็นพนักงานของบริษัทเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) รองรับ แต่ว่าก็เป็นเรื่องของการสมัครใจทำของแต่ละบริษัท โดยนายจ้างและลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ แต่ยังมีบริษัทอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้ชนชั้นกลางที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมากไม่มีความมั่นคงทางการเงินเมื่อยามเกษียณ

นโยบายกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่จะเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีเงินออมสำหรับวัยเกษียณโยรัฐบาลไม่ต้องออกเงินมาช่วย ก็มีปัญหา มีอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ยังไม่คลอด จึงน่าเสียดายและน่าเสียใจที่เรียกร้องกันมาเกิน 30 ปีแล้ว แต่เราก็ยังไม่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติที่เป็นแหล่งเงินออมเพื่อเป็นการลงทุน ตลอดจนเพื่อการดูแลสวัสดิการของชนชั้นกลางและชั้นล่างในขณะที่สังคมไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเสียที

มาวันนี้ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก ชนชั้นกลางต้องช่วยเหลือตนเอง ไม่สามารถจะหวังพึ่งการฝากเงินกับธนาคารเพื่อได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยได้ ดังนั้น การเข้าถึงการลงทุนในตลาดทุนจึงเป็นทางออก

การละเลย หรือการมองข้ามความสำคัญของชนชั้นกลางในช่วงที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้เกิดแรงเสียดทานในสังคมในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดความคิดเห็นที่แบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่าย เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงจากคนรุ่นใหม่ ดูได้จากผลของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากนี้จะไม่เป็นผลดีโดยรวมของประเทศในระยะยาว

เราได้เห็นตัวอย่างของการประท้วงที่ฮ่องกง ที่มีสาเหตุหลักมาจากความเหลื่อมล้ำ ค่าครองชีพที่สูงแพงลิบลิ่ว และราคาของที่อยู่อาศัยที่ไกลเกินความฝันที่จะเป็นจริง เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในมือ 4-5 บริษัทเท่านั้น ทำให้ชนชั้นกลางของฮ่องกงจำนวนมากต้องออกมาประท้วง ทำลายข้าวของ ทำให้อนาคตของฮ่องกงมืดมน

ในเมื่อเราไม่ต้องการให้ไทยเหมือนฮ่องกง รัฐบาลก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการทำให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ ทั้งการให้โอกาสกับทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางและผู้ที่มีรายได้น้อย … อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยต่อไปอีก

นโยบายการคลังและสังคมต้องรองรับโครงข่ายรองรับทางสังคม ที่ต้องครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา สิทธิประโยชน์ทางภาษี การมีกองทุนสวัสดิการต่างๆ กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ การสาธารณสุข และที่สำคัญไม่น้อย คือ การเข้าถึงตลาดทุนที่เป็นแหล่งเงินออมและเงินลงทุนที่มีแรงจูงใจ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในอนาคตสำหรับคนไทย

เพราะหากคนส่วนใหญ่ไม่มีเงิน ไม่มีกำลังซื้อ แล้วต่อไปใครจะไปซื้อไปใช้บริการภาคธุรกิจ ใครจะเสียภาษีให้รัฐบาลนำไปหล่อเลี้ยงระบบราชการกับการพัฒนาประเทศ