posttoday

The Latte Factor: อย่าหมิ่นเงินน้อย

04 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน

เรื่อง The Latte Factor : อย่าหมิ่นเงินน้อย

โดย...บุษยพรรณ วัชรนาคา, CFP

K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

...........................................................................................

เช้ามา กิจวัตรอย่างแรกที่ต้องมีของผู้เขียน คือ การดื่มกาแฟ ไม่ได้ไปหาซื้อจากร้านดังอะไร ชงดื่มเองที่บ้านนี่แหละ อาจเพราะเป็นคนเรื่องมากเรื่องรสชาติกาแฟ เลยเลือกวิธีตอบสนองความพอใจส่วนตัว ด้วยการหาเมล็ดกาแฟที่ถูกปาก มาชงในรสชาติที่จะทำให้ทั้งวันเป็นวันที่ดี

ระหว่างกวาดตาหาอะไรอ่านไปเรื่อยในอินเตอร์เน็ต เรื่องหนึ่งที่ขึ้นมาชวนให้กดเข้าไปอ่าน เป็นเรื่องของ The Latte Factor ซึ่งผู้เขียนเจ้าของหนังสือเล่มนี้ คือ David Bach

ใจความสำคัญของ The Latte Factor คืออะไร

ใจความสำคัญของ The Latte Factor เป็นเรื่องของการทำให้เห็นภาพว่า หากเราลดค่ากาแฟในแต่ละวันลง แล้วเอาเงินจำนวนนั้นไปเก็บออมหรือลงทุนอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เราสามารถเก็บเงินได้ในจำนวนมหาศาล

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินหรือได้อ่านบทความมากมายที่ยกเอาเรื่องของการเปรียบเทียบลักษณะนี้ แต่วันนี้อยากเล่าให้ฟังหน่อยว่า หลักการของ Bach นั้น กำลังอยากบอกอะไรกับเรา

ประเด็นหนึ่งของ The Latte Factor อยู่ที่ หากเราเปลี่ยนรายจ่ายจำนวนน้อย แต่จ่ายบ่อยๆ มาเป็นเงินเก็บแทน โดยนำไปเก็บให้ถูกที่ถูกทาง ให้ผลตอบแทนที่ดี จะสามารถทำให้เราสามารถเก็บเงินก้อนได้จำนวนมาก

ยกตัวอย่างเช่น ค่ากาแฟหรือชานมไข่มุกที่กำลังเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในทุกวัน ถ้าเราจ่ายค่าเครื่องดื่มนี้วันละ 100 บาททุกวัน เดือนหนึ่งๆ เราจะจ่ายเป็นเงิน 3,000 บาทต่อเดือน หรือปีละ 36,000 บาท ถ้า 10 ปี ก็เป็นค่าใช้จ่ายรวม 360,000 บาท

ในอีกทางหนึ่ง หากเราเปลี่ยนเอาค่าเครื่องดื่มเดือนละ 3,000 บาทนี้ นำไปเก็บออมหรือลงทุน โดยให้ผลตอบแทนที่ 5% ต่อปี ปีหนึ่งจะเก็บเงินได้ 36,836 บาท ถ้าทำแบบนี้ต่อเนื่องไป 10 ปี จะเก็บเงินได้ถึง 465,846 บาท พูดง่ายๆ เอาไปดาวน์รถ ดาวน์บ้าน หรือจ่ายค่าเทอมลูกได้สบายๆ

นอกเหนือจากตัวเลข มันเป็นเรื่องของนิสัย

สิ่งที่จะชวนคิดต่อ คงไม่ใช่แค่ตัวเลขที่เทียบให้เห็นข้างต้น แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรม

Bach กำลังพยายามบอกว่า พฤติกรรมของคนทั่วไปมักไม่คิดมากกับการจ่ายเงินเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนนิยมจ่ายเงินเพื่อซื้อความสุข ความสบายให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องดื่ม อาหาร ดูหนังนอกบ้าน อย่างที่หลายคนมักบอกว่า Life is too short ชีวิตเรามันสั้นนะ เพราะงั้นต้องใช้ชีวิตให้คุ้มสิ ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้ผิดอะไร

เพียงแต่เขาอยากยกให้เห็นว่า เจ้ารายจ่ายจำนวนน้อยๆ เหล่านี้ ก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นเงินก้อนใหญ่ได้เหมือนกัน

สิ่งที่สำคัญไปกว่าตัวเลขทางคณิตศาสต์ คือ การควบคุมพฤติกรรมตัวเองต่างหาก เพราะการฝึกตัวเองให้ยอมอดไม่ใช้ในวันนี้ เอาไปเก็บเพื่อใช้ในวันหน้า มันไม่ง่าย แต่หากลองทำให้เป็นนิสัย หรือใช้ตัวช่วยหักเงินอัตโนมัติต่างๆ การเก็บเงินก้อน เราก็ทำได้

ประยุกต์ใช้กับอะไรต่อได้บ้าง

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า การจะจ่ายเงินเพื่ออะไรบางอย่างเพื่อสร้างความพึงใจให้ตัวเองบ้าง หลังจากเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือชีวิตประจำวันนั้น เป็นเรื่องปกติ แต่ในอีกด้านหนึ่งของการเก็บเงิน เราก็สามารถนำวิธีคิดนี้ไปใช้ได้ด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารู้อยู่แล้วว่า จะจ่ายค่าเครื่องดื่ม ขนม หรืออะไรก็ตาม เดือนละ 3,000 บาท เราก็ลองหักเงินจำนวนเท่าๆ กันไปเก็บ ถ้ามันทำใจลำบากตอนจะเอาไปฝากแบงก์ อยากให้ทดลองใช้เทคโนโลยีมาช่วยหักเงินไปเก็บ ก่อนที่เราจะเห็นเงิน

ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซักสองสามเดือน (หรือหลายคนอาจจะขอเวลามากกว่านั้น) ตัวเราเองจะคุ้นชินว่า เงินส่วนที่ใช้ได้มีอยู่เท่าไหร่ เราก็จะใช้อยู่เท่านั้น

เครื่องมืออีกอย่างที่พนักงานหลายบริษัทมีอยู่แล้วอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เข้าทำนองเดียวกัน ที่หักเงินเราจำนวนหนึ่งในแต่ละเดือนไปเก็บออมให้อย่างสม่ำเสมอ ทำงานไปทำงานมา เข้าไปดูตัวเลขอีกที เราก็มีเงินก้อนเหมือนกันนะ

สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้เกี่ยวกับ The Latte Factor คือ อย่าหมิ่นเงินน้อย ลองสร้างนิสัยในการเก็บเล็กผสมน้อยให้กับตัวเอง แล้ววันนึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นั้น จะกลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ให้กับคุณเอง