posttoday

การลงทุนในปี 62 และแนวโน้มปี 63

03 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน

เรื่อง การลงทุนในปี 62 และแนวโน้มปี 63

ดร. สมชัย อมรธรรม

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์

บลจ. กรุงไทย (KTAM)

*********************************************

หากจะมองย้อนกลับไปในปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกไม่ดีเลย ปัจจัยกดดันมาจากเรื่อง “สงครามการค้า” เป็นหลัก และแถมยังมีความเสี่ยงจาก Brexit ให้เป็นกังวลอีกด้วย อย่าง IMF ก็มีการปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกลงต่อเนื่อง จากที่เมื่อปลายปีก่อนมองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้ 3.7% ก็ปรับลดลงต่อเนื่องเหลือเพียง 3.0% ล่าสุด เป็นไปตามพัฒนาการของของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี

ตลาดหุ้นในฝั่งประเทศที่พัฒนาแล้วกลับปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่เห็นดัชนีปรับตัวทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากกรณี “สงครามการค้า” แล้ว พื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็แข็งแกร่งมาก

แถมยังได้ของขวัญจากนโยบายการเงินที่ยูเทิร์น 180 องศา จากที่บอกจะขึ้นดอกเบี้ย กลายเป็นลดดอกเบี้ยลงถึง 3 ครั้งในปีนี้ และยังมี “Mini-QE” ในช่วงปลายปีนี้อีกด้วย สำหรับภาพในปีหน้ายังน่าจะใกล้เคียงเดิม เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่อาจไม่มีเรื่องการขยายตัวทางมูลค่า (P/E Expansion) เข้ามาช่วยเสริมผลตอบแทน ทำให้ผลตอบแทนตลาดเหล่านี้อาจไม่โดดเด่นเหมือนในปีนี้

ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM) กลับไม่ค่อยโดดเด่นในปีนี้ “สงครามการค้า” ที่ค่อยๆ รุนแรงขึ้นในปีนี้เป็นปัจจัยที่เข้ามากระแทกตลาด EM ต่อเนื่อง การอ่อนค่าของเงิน EM สกุลหลักๆ อย่าง หยวนและวอน ก็ทำให้ผลตอบแทนในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ดูน่าสนใจน้อยลง แต่ถ้ามองในเชิง Valuation ก็ถือว่า “ถูก” และน่าสนใจสะสมเพื่อการลงทุนระยะยาว อีกทั้ง พัฒนาการของ “สงครามการค้า” ที่ออกในเชิงบวกในระยะหลังก็ส่งผลดีต่อกลุ่มนี้ และหากสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ ก็น่าจะส่งผลบวกต่อตลาด EM ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า

สำหรับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในปีนี้นั้น ถือว่าค่อนข้างผิดหวัง นอกจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกแล้ว ความอ่อนแอภายในประเทศก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น มาตรการ LTV ที่จำเป็นต้องออกมาเพื่อสกัดความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของกลุ่มดังกล่าวด้วย

การผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้ากว่าที่คาด และการเลื่อนงบประมาณประจำปี 2563 ออกไปก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาบ้างในช่วงปลายปีก็อาจพอช่วยพยุงความเชื่อมั่นได้เพียงในระดับหนึ่ง ขณะที่ยอดขายรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้นเมื่อปีก่อนก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ราคาสินค้าทางการเกษตรก็ไม่ได้ดีขึ้น แถมปริมาณน้ำในเขื่อนที่ต่ำในปัจจุบันก็ทำให้ภาคการเกษตรอาจต้อง “เหนื่อย” ต่อเนื่องในปีหน้า

ส่วนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็ออกมาค่อนข้างผิดหวัง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มที่ได้รับผลลบจากดอกเบี้ยขาลง และกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ถึงแม้ว่า กนง. จะมีการลดดอกเบี้ยลงสองครั้งในปีนี้ ก็อาจทำได้เพียงช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ไหลลงอีกมากนัก

สำหรับปี 2563 ความหวังของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ที่เม็ดเงินของภาครัฐเป็นสำคัญ หลังจากที่งบประมาณผ่านสภาฯ ก็น่าจะมีเม็ดเงินใหม่จำนวนหนึ่งเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับไทยต่อไปในอนาคต ท่ามกลางภาวะที่เครื่องจักรอื่นของเศรษฐกิจไทยดูจะอ่อนแรงลง

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าปีหน้ายังไม่ใช่การ “เผาจริง” แม้ว่าจะได้ยินเป็นประจำในช่วงปลายปีของแต่ละปี แต่ทว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียน ก็อาจจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ จนทำให้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศดูน่าสนใจน้อยกว่าการลงทุนในประเทศอื่นๆ

ในด้านความเสี่ยงปีหน้า เรามองความผันผวนของตลาดยังอาจจะดีดตัวขึ้นได้เป็นระยะๆ เหมือนอย่างเช่นในปีนี้ เป็นไปตามข่าวลบที่เกิดขึ้นกระทันหันในช่วงนั้นๆ ดัชนี VIX ที่กระโดดขึ้นมาสูงกว่า 20 จุดถึง 3 รอบในปีนี้ (ในเดือน 5, เดือน 8 และเดือน 10) ทั้งที่ปรกติจะอยู่ในระดับ 10-15 จุด แต่ก็ถือว่าไม่ได้รุนแรงในระดับ 40 จุดอย่างเช่นช่วงปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และ EM Selloff หรือระดับ 80 จุดในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

แต่ทว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่สูงขึ้นทั่วโลก (ทั้งในประเทศตัวเองและระหว่างประเทศ) อาจทำให้ข่าวลบเกิดขึ้นได้บ่อย และยังต้องปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งที่เป็นปัจจัยต่อเนื่องจากปีนี้ ได้แก่ สงครามการค้าและ Brexit และปัจจัยเสี่ยงในปีหน้า เช่น การเลือกตั้ง ปธน. สหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมา 3 ปีก็แสดงให้เห็นแล้วว่าท่าทีของผู้นำสูงสุดสหรัฐฯ นั้นมีความหมายมากเพียงใด

ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ การจัดพอร์ตก็ควรเน้นการกระจายความเสี่ยง ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นอาจไม่ดีเท่ากับพอร์ตการลงทุนที่กระจุกตัว แต่ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นก็จะไม่มากเท่ากับพอร์ตที่กระจุกตัวด้วย

ผลตอบแทนจากตราสารหนี้น่าจะต่ำลงกว่าในอดีต ทำให้หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่จำเป็นในพอร์ตในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกก็ยังน่าจะผสมเข้ามาในพอร์ตการลงทุนบ้าง แต่ยังไม่ใช่สัดส่วนหลักในพอร์ตการลงทุนนะครับ