posttoday

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการหย่าร้าง

03 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

สถิติการหย่าร้างมักถูกนำมาใช้เป็นดัชนีทางสังคมที่สำคัญตัวหนึ่งที่สะท้อนความสงบสุขของครอบครัว เพราะสาเหตุของการหย่าร้างมักมาจากการเข้ากันไม่ได้ของสามีภรรยาหรือปัญหาต่างๆ ระหว่างสามีและภรรยาที่รุนแรงจนถึงกับไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป สัดส่วนการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นจึงอาจสะท้อนให้เห็นปัญหาภายในครอบครัวได้ระดับหนึ่ง ซึ่งหากพิจารณาสถิติการหย่าร้างในประเทศไทยย้อนหลังในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาแล้ว จะเห็นได้ว่า สถิติการหย่าร้างของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอกว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเสียอีก

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการหย่าร้าง

การเพิ่มขึ้นของอัตราการหย่าร้างเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องปกติในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมตะวันตก คำถามที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ การหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความสงบสุขของครอบครัวที่ลดน้อยลงจริงหรือ? ในสังคมตะวันตกเมื่อหลายร้อยปีก่อน การหย่าร้างในทางนิตินัยนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เลยทีเดียวเพราะข้อห้ามทางศาสนา ฝ่ายที่ประสงค์จะหย่าซึ่งโดยมากคือสามี ก็มักหาทางออกด้วยวิธีต่างให้หลุดจากการแต่งงานกับภรรยา โดยหากเป็นทางออกที่ประนีประนอมก็มักใช้การประกาศให้การแต่งงานที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (annulment) คือ ถือเสมือนว่าไม่เคยแต่งงานกันมาก่อน หรือหากเป็นทางออกที่เลวร้ายกว่าก็มักจบลงด้วยการหายสาบสูญหรือการป่วยไข้จนเสียชีวิตของอีกฝ่าย เป็นเวลาไม่ถึงร้อยปีนี้เองที่ประเทศตะวันตกบางประเทศยอมให้หย่ากันได้ แต่ต้องมีมูลเหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากการกระทำความผิด (fault grounds) เช่น มีการกระทำรุนแรงระหว่างกัน หรือมีการคบชู้ ไม่ใช่ว่าแค่รู้สึกไปกันไม่ได้แล้วจะหย่ากันได้ เช่น ในรัฐนิวยอร์กเมื่อก่อนปี ค.ศ. 2010 คนจะหย่ากันได้ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่ามีมูลเหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากการกระทำความผิด และมูลเหตุที่นิยมกันมากในรัฐนิวยอร์กก็คือการคบชู้ จนถึงขนาดที่ว่ามีช่วงหนึ่งในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดอาชีพการรับจ้างเป็นชู้ให้กับสามีเพื่อเป็นหลักฐานให้คู่สามีภรรยาที่อยากจะหย่า โดยฝ่ายสามีกับผู้หญิงที่รับจ้างเป็นชู้จะเข้าไปหาโรงแรมแบบโมเต็ลเพื่อจัดฉากและหาคนมาถ่ายรูปเพื่อเป็นหลักฐานประกอบในการยื่นขอหย่าต่อศาล อาชีพที่ว่านี้เฟื่องฟูมากจนศาลเริ่มสังเกตเห็นว่าผู้หญิงที่แสดงเป็นชู้นั้นเป็นคนคนเดียวกันในคดีหย่านับร้อยคดีเลยทีเดียว

ตัวอย่างดังกล่าวคงพอชี้ให้เห็นได้ว่า คนจะหย่า พระจะสึก มันห้ามกันได้ยาก ถึงห้ามไว้ก็ต้องหาทางออกทางใดทางหนึ่งกันอยู่ดี ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาแต่ละรัฐในอเมริกาจึงได้เริ่มทยอยปรับแก้กฎหมายให้ยืดหยุ่นมากขึ้น คือนอกเหนือจากมูลเหตุการฟ้องหย่าที่เกิดจากการกระทำความผิดแล้ว ยังอนุญาตให้มีมูลเหตุการฟ้องหย่าที่เกิดจากการเข้ากันไม่ได้ด้วย (Incompatibility) ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์อาจถือได้ว่า ลดต้นทุนในการหย่าไปได้มาก เพราะถ้าอยากหย่าเพราะเข้ากันไม่ได้ก็แค่ให้เหตุผลตามตรงกับศาล ไม่ต้องสร้างเรื่องการเป็นชู้หรือการทำร้ายกันให้เสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ ในทางกฎหมายก็ยังเป็นการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของการสาบานเมื่อให้การในศาล ด้วย ต้นทุนในการหย่าที่ลดลงดังกล่าวนี้มีงานวิจัยรองรับจำนวนมากว่าเป็นตัวแปรหนึ่งที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการหย่าที่เพิ่มขึ้นในอเมริกา

แน่นอนครับ หลายคนอาจแย้งว่า ต้นทุนการหย่าที่ลดลงนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะอาจทำให้สามีภรรยาหลายคู่หย่ากันง่ายๆ ถึงขนาดที่ว่าเวลาไม่พอใจอะไรก็จูงมือไปหย่ากัน ในเรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าค่าใช้จ่ายทางกฎหมายเพื่อให้หย่าได้นั้น ไม่ใช่ต้นทุนโดยตรงของการหย่า แต่เป็นต้นทุนทางธุรกรรม (Transaction cost) ที่เกิดขึ้นเพราะมนุษย์สร้างขึ้นมาเอง ต้นทุนทางธุรกรรมที่ยิ่งสูงก็ย่อมทำให้การตัดสินใจที่เกิดขึ้นบิดเบือนไปได้มาก เช่น ในกรณีที่การหย่าควรจะเกิดขึ้นเพราะทั้งสามีและภรรยาต่างก็ตัดสินใจแล้วว่าหย่าดีกว่าอยู่กันต่อไป แต่หย่าไม่ได้เพราะไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะดำเนินให้การหย่าเกิดขึ้นได้ทางกฎหมาย การต้องทนอยู่ด้วยกันก็ถือเป็นการตัดสินใจที่บิดเบือนอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพในสังคม หรือในกรณีที่มีทรัพยากรเพียงพอ ก็อาจต้องมาสูญเสียทรัพยากรทั้งเงินและเวลาให้การหย่าเกิดขึ้นได้ ก็ย่อมส่งผลให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพได้เช่นกัน การลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในเรื่องการหย่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นการหย่าระหว่างสามีและภรรยาที่ไม่มีบุตรนั้นจึงถือได้ว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรในรูปแบบหนึ่งครับ

สำหรับเมืองไทยนั้น หากทั้งสามีและภรรยาพร้อมใจจะหย่าด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็สามารถขอหย่าต่อนายทะเบียนได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล การหย่าในประเทศไทยจึงถือว่าทำได้ง่ายพอควรเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศตะวันตก กฎหมายที่อนุญาตให้หย่าต่อนายทะเบียนหากยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย (Mutual consent law) นี้มีมานานหลายสิบปีแล้ว แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการหย่าร้างของประเทศไทยในระหว่างปี 2543 ถึง 2560 ดังรูป จึงย่อมไม่ใช่ผลจากปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กฎหมาย โดยหากเกิดจากปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างสามีภรรยาที่เพิ่มขึ้น อัตราการหย่าร้างดังกล่าวก็ย่อมบ่งชี้ให้เห็นความสงบสุขในครอบครัวที่ลดลง แต่หากเกิดจากต้นทุนในการหย่าร้างที่ลดลง เช่น ต้นทุนทางจิตใจจากการหย่าร้างที่ลดลงจากการที่ค่านิยมของสังคมสมัยใหม่เริ่มยอมรับผู้หญิงหรือผู้ชายที่เคยผ่านการหย่าร้างมาก่อนได้มากขึ้นกว่าในอดีต การเพิ่มขึ้นของการหย่าร้างก็น่าจะเป็นดัชนีเชิงบวกที่แสดงให้เห็นทางออกที่เปิดกว้างมากขึ้นของผู้ที่เคยถูกกักหรือผูกมัดไว้กับการแต่งงานที่ไม่มีความสุข

เรื่องนี้เป็นคำถามวิจัยที่น่าหาคำตอบครับ