posttoday

ติดตามความคืบหน้าข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ของสหรัฐฯ-จีน

02 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.10-30.40 ในสัปดาห์นี้ คาดว่าปัจจัยการเจรจากาารค้าจะยังคงมีอิทธิพลต่อค่าเงินทั่วโลก เมื่อพัฒนาการของข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ชัดเจนขึ้นโดยลำดับ จะทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยค่อยๆ น้อยลงได้ ทั้งนี้ หากไม่สามารถตกลงการค้ากันได้ภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ สหรัฐฯ อาจขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบที่ 4 ระยะที่ 2 ในอัตรา 15% ตามกำหนดเดิมได้ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ของไทยจะประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อโดยรวมจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 1.0-4.0% และในวันศุกร์ ตลาดรอติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญที่คาดว่าจะยืนยันความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณหยุดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วในปีนี้

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากตลาดรอติดตามความคืบหน้าการเจรจาทางการค้าสหรัฐฯ – จีน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสินทรัพย์ปลอดภัยอื่นๆ ตามสัญญาณความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกลดลงหลังทางการจีนประกาศว่าจะเพิ่มบทลงโทษการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจในจีน สนับสนุนให้แนวโน้มสหรัฐฯ –จีนจะได้ข้อสรุปข้อตกลงการค้าในเฟสแรกมีมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายใกล้ที่จะสรุปข้อตกลงทางการค้า

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายวิรไทย สันติประภพกล่าวว่า ธปท. กำลังพิจารณามาตรการผ่อนคลายเกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยนให้ธุรกิจสามารถดำรงเงินตราต่างประเทศไว้ในต่างประเทศได้ โดยผู้ว่าฯ ชี้ว่าค่าเงินบาทในปัจจุบันอยู่ในระดับที่แข็งค่ามากกว่าพื้นฐานซึ่งการจัดการโดยใช้มาตรการดอกเบี้ยอาจไม่ตอบโจทย์ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยว่าการจ้างงานไตรมาสที่ 3 ลดลง 2.1%YoY โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงเป็นไตรมาสที่สามที่ -1.8% เนื่องจากภัยธรรมชาติ ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจรวมทั้งการส่งออกอ่อนแอลง โดยเฉพาะการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม (-5.2%) ภาคค้าส่งค้าปลีก (-4.1%) และภาคการก่อสร้าง (-2.2%) อย่างไรก็ดี การจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร (+3.1%) และสาขาการขนส่ง (+1.0%) เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 30.19 – 30.24 ตลอดสัปดาห์เนื่องจากตลาดการเงินรอติดตามผลของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และส่งผลให้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.228 (ณ 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มกลับมาสู่โหมดปิดรับความสี่ยงจากประเด็นการลงนามในร่างกฎหมายที่สนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง โดยในภาพใหญ่เรื่องการเจรจาสงครามการค้ายังไม่มีการบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการ ขณะที่มีประเด็นที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามในร่างกฎหมายที่สนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกงแล้ว ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ทำให้ความหวังของนักลงทุนต่อกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้า ทั้งจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวว่าข้อตกลงทางการค้ากับจีนอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย รวมไปถึงแถลงการณ์จากกระทรวงพาณิชย์จีนที่ระบุว่าทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุประเด็นสำคัญสำหรับข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ถูกลบออกไป

แต่ถึงอย่างนั้นนักลงทุนคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ไม่สามารถบรรลุได้ภายในปีนี้ ความกังวลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกก็จะกลับมาและเห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงตลาดทั้งเส้นผลตอบแทน โดยมีแรงซื้อเข้ามาในพันธบัตรรัฐบาลอย่างชัดเจนในวันสุดท้ายของสัปดาห์จากความกังวลที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.28% 1.29% 1.31% 1.39% 1.50% และ 1.61% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 492 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 2,635 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,163 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 20 ล้านบาท