posttoday

จัดพอร์ต RMF อย่างไรให้ตรงใจ

28 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว

โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT

ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

จากการประเมินของศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. พบว่าผู้ที่เกษียณแล้วควรมีเงินเตรียมไว้ราว 7 ล้านบาท หรือมีกระแสเงินสดเข้ามาเดือนละ 2 ถึง 3 หมื่นบาทต่อเดือน จึงจะสามารถดำรงชีพหลังเกษียณได้ในระดับที่ค่อนข้างสบายใจ ปัจจัยที่จะทำให้มีเงินในยามเกษียณได้อย่างเพียงพอนั้นมีอยู่ 2 ประการคือ การออม ซึ่งต้องเริ่มออมเร็วและออมให้มาก และการสร้างผลตอบแทน ซึ่งต้องสูงแต่อยู่ภายใต้ขอบเขตของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ผู้ที่มีแบบแผนการออมเพื่อเกษียณ (Retirement Saving Scheme) รองรับ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. หรือลูกจ้างที่นายจ้างจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถสะสมเงินเข้าแบบแผนการออมด้วยการเพิ่มอัตราเงินออมในระดับที่ตนเองต้องการ และยังได้รับเงินสมทบอีกส่วนจากรัฐบาลหรือนายจ้างซึ่งจะช่วยเร่งสร้างฐานเงินออมได้ดี ส่วนในเรื่องของผลตอบแทนนั้น แบบแผนดังกล่าวมักออกแบบให้มีระดับความเสี่ยงปานกลาง หรือมีทางเลือกในการลงทุนที่เรียกว่า Investment Choice เพื่อให้อิสระกับสมาชิกในการเลือกลงทุนตามแบบที่ตนเองต้องการ

สำหรับผู้ที่ไม่มีแบบแผนการออมดังกล่าวหรือมีอยู่แล้วแต่ต้องการสะสมเงินเพิ่มขึ้นอีก ทางเลือกที่สำคัญคือการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของผู้ลงทุนในการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสม เนื่องจาก RMF มีนโยบายลงทุนที่หลากหลายและผู้ลงทุนต้องใช้ดุลยพินิจของตนเองในการเลือกลงทุน

เราสามารถแบ่งประเภท RMF แบบกว้างๆ ออกเป็น 5 ประเภทดังนี้

1) กองทุนผสม (Balanced Fund) ซึ่งจะลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์อื่น จะเป็นการผสมสินทรัพย์ประเภทต่างๆ และกองทุนผสมบางประเภทมีความยืดหยุ่นโดยกำหนดให้ผู้จัดการกองทุนเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ตั้งแต่ร้อยละ 0 - 100 เพื่อสร้างผลตอบแทน และบริหารความเสี่ยงไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การลงทุน

2) กองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารภาครัฐที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หรือตราสารหนี้ภาคเอกชน รวมถึงตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (High Yield Bond) ซึ่งกองทุนตราสารหนี้ก็มีให้เลือกทั้งตราสารหนี้ในประเทศและตราสารหนี้ต่างประเทศ

3) กองทุนตราสารทุนไทย (Thai Equity) เป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยนโยบายการลงทุนนั้นมีให้เลือกหลายรูปแบบการลงทุน เช่น เน้นลงทุนหุ้นคุณค่า (Valued Stock) หรือเน้นหุ้นเติบโต (Growth Stock) อีกทั้งมีให้เลือกกองทุนที่ลงทุนหุ้นขนาดเล็ก หุ้นขนาดกลาง หุ้นขนาดใหญ่ และมีกองทุนที่ลงทุนตามดัชนี SET50 หรือ SET100 เป็นต้น

4) กองทุนตราสารทุนทั่วโลก (Global Equity) เป็นการลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นตราสารทุนสหรัฐอเมริกา (US Equity) ตราสารทุนญี่ปุ่น (Japan Equity) ตราสารทุนยุโรป (European Equity) อีกทั้งมีให้เลือกลงทุนประเทศในตลาดเกิดใหม่ เช่น ตราสารทุนเวียดนาม (Vietnam Equity) ตราสารทุนจีน (China Equity) ตราสารทุนอินเดีย (India Equity) เป็นต้น ทั้งนี้กองทุนต่างประเทศจะมีทั้งประเภทกองทุนดัชนี และกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรุกให้เลือกลงทุน

5) กองทุนกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Fund) เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น กองทุนที่ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Sector) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก (Global Infrastructure) กองทุนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) กองทุนกลุ่มธุรกิจสุขภาพทั่วโลก (Global Health Care) กองทุนทองคำ เป็นต้น

การจะสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม จำเป็นต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน หากลงทุนความเสี่ยงต่ำเกินไปก็มีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนน้อยและอาจทำให้เงินยามเกษียณไม่เพียงพอ แต่หากลงทุนความเสี่ยงสูงเกินไปก็อาจทำให้เกิดผลขาดทุนและตัดใจขายขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงนั้นๆ ยังไม่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้เห็นในระยะยาวได้ ดังนั้น การจะลงทุนใน RMF จึงควรทำความเข้าใจเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนและเป็นการสร้างผลตอบแทนให้บรรลุตามเป้าหมายที่ต้องการ ผู้ลงทุนสามารถใช้วิธีการเลือกจัดพอร์ตโดยใช้ RMF ได้ 3 รูปแบบ

ลงทุนจัดพอร์ตแบบสำเร็จรูป เป็นวิธีการลงทุนที่เรียบง่าย กล่าวคือเลือกลงทุนเพียงกองเดียวผ่าน RMF แบบผสม (Balanced Fund) ซึ่งจะมีการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน โดยจะเน้นรักษาสมดุลของความเสี่ยงไม่ให้สูงเกินไปและผลตอบแทนไม่ให้ต่ำเกินไป ทั้งนี้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์จะขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนโดยความเสี่ยงกองทุนประเภทนี้จะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ ไปจนถึงเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง

จัดพอร์ตตามอายุ (Age-Based Asset Allocation) เป็นวิธีที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกหน่อย โดยผู้ลงทุนเลือกกองทุน RMF 2 ประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำและสูง ซึ่งโดยทั่วไปมักเลือก RMF ประเภทตลาดเงิน กับประเภทตราสารทุนไทย วิธีการจัดพอร์ตมักจัดให้สอดคล้องกับอายุของผู้ลงทุน กล่าวคือเมื่ออายุน้อยจะมีสัดส่วน RMF ความเสี่ยงต่ำในปริมาณที่น้อย และมีสัดส่วน RMF ความเสี่ยงสูงในปริมาณที่มาก และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็ทยอยลดสัดส่วน RMF ประเภทความเสี่ยงสูงลงเพื่อเน้นการรักษาเงินต้น ซึ่งรูปแบบนี้คล้ายกับ “แผนสมดุลตามอายุ” ที่ กบข. เปิดไว้ให้กับสมาชิก

แนวทางหนึ่งที่อาจนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูงคือ “กฎ 100” (Rule of 100) โดยนำตัวเลข 100 ตั้งแล้วลบด้วยอายุผู้ลงทุนเพื่อเป็นสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ช่น หากผู้ลงทุนอายุ 40 ปีจะลงทุนในตราสารทุนประมาณ 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น

จัดพอร์ตแบบกลยุทธ์แกนหลักและตัวเสริม (Core and Satellite Strategy) เป็นวิธีการสร้างพอร์ตโดยเลือกลงทุนตั้งแต่ 3 กองทุนขึ้นไป โดยมีหนึ่งกองทุนที่ให้น้ำหนักประมาณ 40% ถึง 60% เพื่อใช้เป็นแกนหลักของพอร์ต (Core) ส่วนที่เหลือนำไปกระจายลงทุนในตัวเสริม (Satellite) ซึ่งอาจมีทั้งตัวเสริมที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน อย่างการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรม หรือสินค้าโภคภัณฑ์ และตัวเสริมที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อสร้างความเสถียรของผลตอบแทน เช่น ตลาดเงิน ตราสารหนี้ เป็นต้น

การจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ของผู้ลงทุน และควรลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ เพื่อจะสามารถลงทุนระยะยาวและสร้างอนาคตวัยเกษียณที่มั่นคง