posttoday

ลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG

28 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

คอลัมน์ รู้ทันลงทุน

เรื่อง : ลงทุนอย่างยั่งยืนด้วยแนวทาง ESG

โดย จอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA

ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.

ทีมโฆษก และฝ่ายตราสารหนี้

*******************************

ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG” เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการระดมทุน มูลค่าสินทรัพย์ ตลอดจนผลการดำเนินงานและการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการด้วย

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน จึงมุ่งส่งเสริมกิจการในตลาดทุนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวผ่านการจัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ และนำ ESG ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าในกระบวนการทำธุรกิจ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สังคมและผู้ลงทุนรับทราบ เพื่อสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน

โดยผลักดันให้ผู้ลงทุนสถาบันต่าง ๆ นำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์ คัดเลือกหลักทรัพย์ และตัดสินใจลงทุนภายใต้ “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Institutional Investor Code : I-Code)” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่จะส่งผลให้ผลตอบแทนของเงินลงทุนเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม นำไปสู่ความเสี่ยง 2 ด้าน 

1.ความเสี่ยงด้านกายภาพ (Physical Risk) จากผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เช่น ภัยธรรมชาติส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ภัยแล้งกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยไทยติดอันดับที่ 26 ของประเทศที่มีความเสี่ยงด้าน climate change และกรุงเทพฯ ยังติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองที่มีโอกาสจมน้ำเร็วที่สุดในโลก

2.ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) เนื่องจากนโยบายทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ กิจการที่มิได้ใส่ใจในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอ ย่อมมีโอกาสสร้างความเสียหายและมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ เช่น บริษัทน้ำมันที่ทำน้ำมันดิบรั่วลงทะเล ส่งผลให้สัตว์ทะเลตาย ปะการังเสียหาย มีสารอันตรายปนเปื้อนในทะเล กระทบต่อชุมชน ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้าขาย และการทำประมง ตลอดจนสุขภาพของคนในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากบริษัทจะเสียชื่อเสียงแล้วยังถูกฟ้องร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

ปัจจัยด้านสังคม ส่งผลกระทบทั้ง 1) ภายใน เช่น การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม สวัสดิการพนักงาน การเคารพสิทธิมนุษชน โดยพนักงานที่มีคุณภาพชีวิตไม่เหมาะสม ย่อมไม่สามารถทำงานให้กิจการได้อย่างเต็มกำลัง 2) ภายนอก ได้แก่ การผลิตและการให้บริการอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม ธุรกิจต่อเนื่อง ลูกค้า และผู้ถือหุ้น เช่น การซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรด้วยราคาที่เป็นธรรม เพราะหากเกษตรกรยากจน ไม่มีเงินลงทุนในการเพาะปลูก หรือไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้

ปัจจัยด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ การทำหน้าที่ของกรรมการ การบริหารจัดการ การกำกับดูแลภายในที่โปร่งใส เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างคุณค่าของกิจการอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างเช่น กรณีผู้บริหารของกิจการใช้ข้อมูลภายในหรือทุจริตฉ้อโกง นอกจากจะถูกทางการลงโทษแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานของกิจการด้วย หรือในกรณีธุรกิจเครื่องสำอางขาดจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ ใช้วัตถุดิบไม่มีคุณภาพเพราะเห็นว่าราคาถูกมาผลิต ทำให้สภาพผิวลูกค้าเสียหาย ต่อไปลูกค้าก็จะไม่กลับไปซื้อสินค้าอีก

หลายท่านอาจมองว่า ESG ทำให้กิจการมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริง นอกจาก ESG จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของกิจการแล้ว ยังอาจช่วยสร้างรายได้ หรือ พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน

เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในโรงงาน การเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิงหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มที่ทำให้กิจการสามารถลดต้นทุนการผลิต การคิดค้นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น วัสดุสร้างอาคารที่ระบายความร้อนหรือประหยัดพลังงาน รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หลอดและถ้วยซิลิโคนที่นำกลับมาใช้ได้ ถือเป็นการสร้างคุณค่าแก่สินค้า ขยายตลาดใหม่ และเพิ่มรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมักจะเลือกสินค้าและบริการจากกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยสรุปจะเห็นว่าเรื่อง ESG เป็นเรื่องใกล้ตัวที่กระทบต่อชีวิตประจำวัน และยังมีผลต่อผลกำไรและความอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะยาว จึงไม่แปลกใจที่ผู้ลงทุนทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญและนำเรื่อง ESG มาประกอบการตัดสินใจลงทุน

ผู้ลงทุนสถาบันหลายราย เช่น NN Investment Partners BlackRock และ BNP Paribas ให้ข้อมูลว่าคะแนนด้าน ESG มีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจการในระยะยาว และในปัจจุบันมีกองทุนหุ้นมากกว่า 1,500 กองที่เลือกลงทุนในธุรกิจที่ปฏิบัติตามกรอบ ESG มูลค่าสินทรัพย์รวม 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 โดยบริษัทจดทะเบียนไทยหลายรายก็ได้คะแนน ESG ดีในระดับเวทีโลก ทำให้มีโอกาสได้รับความสนใจและได้รับเงินทุนมากกว่าด้วย

ในตอนต่อไปจะขอพูดถึงแนวโน้มการลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งบริหารเงินลงทุนแก่สมาชิกเพื่อใช้ยามเกษียณ เพราะการเลือกลงทุนที่ถูกต้องย่อมมีผลอย่างมากต่อผลตอบแทนในระยะยาวของสมาชิกกองทุน

ดังนั้น จะดีหรือไม่หากเราในฐานะสมาชิกกองทุนเรียกร้องผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “ไม่ให้ลงทุนในกิจการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” ซึ่งนอกจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ตลอดจนผลการดำเนินงานและอื่น ๆ แล้ว ในที่สุดจะส่งผลต่อผลตอบแทนของกองทุน โดย ก.ล.ต. จะผลักดันเรื่องดังกล่าวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลของ ก.ล.ต. ก่อนเพื่อส่งสัญญาณที่ชัดเจน และเป็นตัวอย่างสำหรับภาคเอกชน

“หากโลกยั่งยืน ธุรกิจก็ยั่งยืน ผลการลงทุนก็ยั่งยืน”