posttoday

ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย

28 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง : ชนชั้นกลางกับอนาคตประเทศไทย ตอนที่ 1/2

โดย วรวรรณ ธาราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง

*************************************

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ (modern economy) สังคมไทยเองก็ปรับโครงสร้างเหมือนกัน โดยทำให้มีการขยายตัวของเขตเมือง และเกิดมีชนชั้นกลาง หรือ Middle Class มากยิ่งขึ้น และทุกประเทศก็มีโครงสร้างคล้ายๆ กัน คือ

1. มีมหาเศรษฐี หรือคนรวย เหลือกินเหลือใช้ ... คนไทยที่รวย 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 60% ของประเทศ

2. มีชนชั้นกลาง ซึ่งแบ่งเป็น ชนชั้นกลางระดับบน ที่มีรายได้สูง มีความสะดวกสบายในการทำธุรกิจ หรือเป็นลูกจ้าง ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร กับชนชั้นกลางระดับล่าง ที่แม้จะมีความสะดวกสบายในการมีชีวิตอยู่ในสังคมเมือง แต่ต้องทำงานหนักและต้องต่อสู้เพื่อรักษาตำแหน่งหน้าที่การงาน ย้ายงานบ่อย มีรายได้ประจำ แต่อยู่แบบเดือนชนเดือน และมีหนี้สินสูง

3. ส่วนชนชั้นแรงงาน หรือชาวไร่ชาวนา ที่มีรายได้น้อย ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะว่า มีชีวิตอย่างขัดสน หาเช้ากินค่ำ มีหนี้สินล้นพ้น ต้องปากกัดตีนถีบอยู่ตลอดเวลา

กล่าวโดยรวมแล้ว ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างของไทยมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องต่อสู้กับค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน และขึ้นเร็วกว่า สูงกว่ารายได้

นอกจากนี้ อัตราค่าครองชีพที่เป็นจริงก็ยังสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการประกาศมาก ทำให้ครัวเรือนไทยต้องก่อหนี้สินสูง โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท เกือบ 80% ต่อจีดีพี สูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และติดอันดับ 11 ของโลก

การที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนรวยทั้งหมด มันเป็นไปไม่ได้ แต่การที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศกินดี อยู่ดี รวมทั้งยกระดับชนชั้นกลางให้เข้มแข็งและมีจำนวนมากขึ้น เป็นเป้าหมายสำคัญ ทั้งเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถในการบริหารประเทศ จึงต้องพูดถึงเรื่องของชนชั้นกลางโดยเฉพาะ เพราะว่าชนชั้นกลางเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า เพราะชนชั้นกลาง คือ กลุ่มสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

เพราะดูเหมือนว่า นโยบายของรัฐบาลมักจะเอาใจเฉพาะคนรวย หรือบริษัทที่มีขนาดใหญ่มากกว่าจะสนใจคนชั้นกลางหรือคนจน อาจจะเพราะไปเชื่อว่า คนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งไทยและเทศเป็นผู้ที่ลงทุนหลักที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน GDP โดยเชื่อว่า เมื่อ GDP เติบโตแล้ว เศรษฐกิจก็จะดี และคนในภาคสังคมอื่นๆ จะได้ประโยชน์ตามไปด้วย

แต่ว่า ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่เติบโตนั้น ไม่ได้ช่วยในการกระจายรายได้ หรือให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ คงจะมีก็แต่คนรวยเท่านั้น ที่นับวันมีแต่จะรวยขึ้นๆ ทำให้เมืองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก

World Economic Forum เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ปีนี้ไทยได้อันดับความสามารถในการแข่งขันอยู่ที่ 40 จากทั้งหมด 141 ประเทศ โดยลดลงจากอันดับที่ 38 ในปี 2561

ที่สำคัญ คือ เขาให้คะแนนความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศของเราต่ำมาก เนื่องจากตลาดในประเทศถูกผูกขาดโดยทุนขนาดใหญ่ไม่กี่ราย ทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเติบโต และขยายธุรกิจได้ยาก

คนรวย บริษัทใหญ่ บริษัทต่างชาติ ได้รับประโยชน์หลักจากนโยบายของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิพิเศษด้านการลงทุน สัมปทาน ภาษี รวมทั้งโครงสร้างสาธารณูปโภคที่รองรับการลงทุน ภาษีนิติบุคคลก็อยู่ที่ 20% ทั้งยังมีวิธีการทางบัญชี เพื่อประหยัดการจ่ายภาษีให้ได้มากที่สุด

ส่วนชนชั้นกลางกลับถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่เสียภาษีหลักให้กับประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะถูกหัก ณ ที่จ่ายทุกเดือน ภาษีรายได้ส่วนบุคคลอยู่ระดับสูงสุดอยู่ที่ 35% สูงกว่าอัตราภาษีของนิติบุคคลที่เป็น 20% และเขายังกำหนดให้คนมีเงินได้ต่อปี 4 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษี 35% … 4 ล้าน 100 ล้าน พันหมื่นแสนล้าน อัตราภาษีเท่ากันหมด แถมยังต้องจ่ายภาษีทางการค้า ภาษีธุรกิจ และภาษีทางอ้อมอื่นๆ ให้กับภาครัฐ รวมทั้ง VAT 7% เมื่อจับจ่ายซื้อของและบริการ

ในขณะเดียวกัน ชนชั้นกลาง ทั้งผู้ที่ประกอบวิชาชีพเฉพาะ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการ และพนักงานบริษัท หรือองค์กร ล้วนเป็นผู้บริโภคหลักของประเทศ ผู้สร้างอุปสงค์ที่เรียกว่า เป็นพลวัตของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายใน เพราะเป็นผู้ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนท์ ซื้อรถยนต์ ซื้อมอเตอร์ไซด์ ซื้อมือถือ ซื้อตู้เย็น ทีวี ซื้ออาหาร ช้อปปิ้ง ซื้อเสื้อผ้า ส่งลูกเรียนหนังสือ ไปเที่ยว และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ

ดังนั้น ถ้าไม่มีชนชั้นกลาง การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะไม่มี.....

โปรดติดตามตอนจบ ในวันพฤหัสบดีหน้าค่ะ (5 ธันวาคม 2562)