posttoday

ความคุ้นเคยในการใช้ ICT ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กเยาวชนไทย

26 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...กิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี นักวิจัย ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบันฑ

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...กิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี นักวิจัย ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (ศาสตราจารย์ 11) และผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่เยาวชนไทยจะต้องมีความคุ้นเคยในการใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Familiarity) ได้อย่างเหมาะสม เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานในโลกอนาคตนั้นล้วนจำเป็นต้องทำประกอบไปกับการใช้ ICT แทบทั้งสิ้น หรือจะกล่าวได้ว่า ความคุ้นเคยในการใช้ ICT จึงมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน (Innovative and Digital Driven-Economy) ทั้งนี้ ความสำคัญเบื้องต้นของการยกระดับความคุ้นเคยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ โดยวัดได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

หนึ่งข้อค้นพบจาก “โครงการการพัฒนาความฉลาดรู้ด้านสะเต็มศึกษาของเด็กไทยเพื่อให้ก้าวไกลทันยุคประเทศไทย 4.0” โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยร่วมทำวิจัยกับอาจารย์อัครนัย ขวัญ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และคุณกิตติศักดิ์ ศรีแจ่มดี (นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) ซึ่งโครงการศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อค้นพบคร่าวๆ ว่า “ความคุ้นเคยในการใช้ ICT สามารถส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กได้ ซึ่งจะส่งผลทางบวกหรือลบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเด็กเยาวชนไทยได้ใช้ ICT กับเรื่องใด/ที่ไหน/และใช้นานแค่ไหน

การศึกษานี้ได้วิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจของนักเรียนไทยอายุ 15 ปีจากทั่วประเทศภายใต้จาก Programme for International Student Assessment ที่สำรวจในปี ค.ศ. 2015 (หรือ PISA-2015) จำนวนทั้งสิ้น 8,249 กลุ่มตัวอย่าง โดยการสำรวจในปีนี้ได้เพิ่มหัวข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคยในการใช้สื่อ ICT ของเด็กเยาวชนไทยอยู่หลายคำถาม ซึ่งงานศึกษาได้จำแนกความคุ้นเคยในการใช้ ICT เป็น 4 ประเด็นได้แก่ 1) การเข้าถึงอุปกรณ์ที่บ้านหรือที่โรงเรียน 2) ประสบการณ์ในการใช้ 3) จำนวนนาที/ชั่วโมงในการใช้ต่อวัน และ 4) ประเภทของการใช้ซึ่งแบ่งออกได้เป็น การใช้เพื่อเล่นเกมและเพื่อความบันเทิง การใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยงานศึกษานี้ได้พยายามประเมินปัจจัยทางด้านความคุ้นเคยในการใช้ ICT ดังกล่าวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากคะแนนสอบ PISA โดยจำเป็น 3 วิชาได้แก่ 1) วิชาวิทยาศาสตร์ 2) วิชาคณิตศาสตร์ และ 3) วิชาการอ่าน

ในด้านการเข้าถึงอุปกรณ์การใช้ (เช่นการมีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน/โรงเรียน) พบผลการศึกษาโดยภาพรวมว่า การมีอุปกรณ์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ประเภทต่างๆ ที่บ้าน (หรือมีแต่ไม่ค่อยได้ใช้) ไม่ได้ส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร ตรงกันข้ามกลับส่งผลลบ โดยนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่บ้านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.9) และน้อยที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่บ้าน ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่านักเรียนที่มีโน๊ตบุ๊คที่บ้านแต่ไม่ใช้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.4) และน้อยที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีโน๊ตบุ๊คที่บ้าน แต่ตรงกันข้าม นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนกลับมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.5) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.8) และในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ที่โรงเรียน

ในด้านของประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพบว่า ถ้านักเรียนมีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เด็กๆ นักเรียนจะมีความถนัดในการใช้ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษามากกว่านักเรียนที่เพิ่งเริ่มใช้หรือไม่เคยใช้เลย โดยผลการจากประมาณการพบว่า นักเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุ 6 ปี หรือต่ำกว่า 6 ปีจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.9) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 4.0) และมากที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 4.6) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้อุปกรณ์ดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุ 13 ปีหรือมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า นักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 6 ปี (หรือต่ำกว่า) จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.2) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.0) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรกตอนอายุ 13 ปี (หรือมากกว่า)

ในด้านของระยะเวลาในการใช้พบว่า นักเรียนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 1-30 นาทีต่อวัน มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.2) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.4) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.1) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ใช้ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย และยังพบว่านักเรียนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตวันละ 2-4 ชั่วโมงต่อวัน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.7) ในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.0) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตเลย

ในด้านของลักษณะประเภทของกิจกรรมที่ใช้งาน พบว่าการใช้สื่อ ICT กับการเล่นเกมออนไลน์แบบเครือข่ายสังคมทุกวัน (หรือบ่อยครั้ง) จะส่งผลทางลบต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในวิชาการอ่าน (ลดลงร้อยละ 2.1) และวิชาวิทยาศาสตร์ (ลดลลงร้อยละ 1.6) เมื่อเทียบกับนักเรียนที่ไม่ได้เล่นเกมออนไลน์แบบเครือข่ายสังคมเลย แต่ทั้งนี้กลับพบว่านักเรียนที่เล่นอินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิง เช่น ดู YouTube 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์(ร้อยละ 2.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.8) และมากที่สุดในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยดู YouTube เลย เนื่องจากความบันเทิงช่วยให้นักเรียนคลายความเครียดอีกทั้งก็เป็นการช่วยให้มีสมาธิในการเรียนรู้และคิดอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ในด้านการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนพบว่า นักเรียนที่ใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อติดตามบทเรียน เช่นใช้สำหรับการติดตามบทเรียน จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.1) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยติดตามบทเรียน และนักเรียนที่ตรวจสอบเว็บไซต์ของโรงเรียนสำหรับประกาศต่างๆเกือบทุกวันจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 1.6) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 2.2) และมากที่สุดในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 2.3) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยตรวจสอบเว็บไซต์ของโรงเรียนสำหรับประกาศต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่านักเรียนที่ทำการบ้านบนคอมพิวเตอร์ 1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามากขึ้นในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 1.5) ในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 1.8) และมากที่สุดในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 2.4) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยทำการบ้านบนคอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรงอย่างเช่น การใช้อีเมล การคุยออนไลน์ การรับข้อมูลที่สำคัญจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นเองเพื่อการแบ่งปันจะได้ผลลัพธ์ที่ผสมผสานกลับพบว่าจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาน้อยลงในวิชาการอ่าน (ร้อยละ 3.2) ในวิชาคณิตศาสตร์ (ร้อยละ 3.2) และน้อยที่สุดในวิชาวิทยาศาสตร์ (ร้อยละ 3.8) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยอัปโหลดเลย ทั้งนี้เนื่องจากกิจกรรมที่เด็กนักเรียนอัปโหลดนั้นอาจจะหมายถึงการเต้น การร้องเพลง หรือกิจกรรมต่างๆที่ไม่ใช่เพื่อการศึกษา หรือเป็น YouTuber จึงนำไปสู่ทำให้เด็กนักเรียนละเลยหรือให้ความสำคัญกับด้านการศึกษาน้อยลงก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังพบต่ออีกว่าเด็กนักเรียนที่แชทออนไลน์เกือบทุกวันยังส่งผลให้ได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ และวิชาวิทยาศาสตร์ น้อยกว่าร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเด็กนักเรียนที่ไม่เคยหรือแทบจะไม่เคยแชทออนไลน์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ การอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ต การรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต การดาวน์โหลดเพลงภาพยนตร์เกมหรือซอฟต์แวร์จากอินเทอร์เน็ต และการดาวน์โหลดแอปใหม่บนอุปกรณ์มือถือ ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อผลสัมฤทธ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร
โดยสรุป ถึงแม้ว่าความคุ้นเคยในการใช้สื่อ ICT จะมีความสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศก็ตาม แต่การศึกษานี้ให้ข้อค้นพบว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จะส่งผลบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินั้นจำเป็นที่การใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเป็นหลัก ในขณะที่การใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือการค้นหาข้อมูล (รวมไปถึงการแชร์ข้อมูลและอัปโหลดข้อมูลต่างๆ) นั้นกลับไม่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาแต่อย่างไร ตรงกันข้ามผลการศึกษากลับพบผลกระทบทางลบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ เช่น การใช้อีเมล การคุยออนไลน์ การรับข้อมูลที่สำคัญจากโลกอินเทอร์เน็ต หรือการอัปโหลดเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นเองเพื่อการแบ่งปัน

ดังนั้นในการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของประเทศ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงครอบครัว) จึงควรกำหนดให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่จะต้องใช้เพื่อการศึกษาเป็นสำคัญ และควรควบคุมการใช้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้เกิดการใช้อย่างเหมาะสม