posttoday

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

26 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ Healthy Wealth

คอลัมน์ Healthy Wealth

เรื่อง : เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

โดย เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์

บลจ.เอ็มเอฟซี

..................................................................................

นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณและเพื่อได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ Retirement Mutual Fund (RMF) คงพอเข้าใจกฎเกณฑ์แนวทางการลงทุน จำนวนเงินที่สามารถซื้อกองทุน และวิธีปฏิบัติเพื่อให้การลงทุนในแต่ละปีไม่ผิดเกณฑ์ของกรมสรรพากร

อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นระหว่างทางที่ลงทุนทำให้ไม่สามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง เช่น ลาออกจากงานโดยสมัครใจ หรือไม่สมัครใจก็ตาม นักลงทุนควรจะทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุนใน RMF รวมทั้งกรณีที่ผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อไร และกรณีที่ผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังทำงานอยู่จนกระทั่งอายุ 60 ปี จะสามารถลงทุนในกองทุน RMF ต่อไปได้หรือไม่ มีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะมาทำความเข้าใจในประเด็นนี้กัน

จากเงื่อนไขการลงทุนใน RMF ของกรมสรรพากร เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน คือ การซื้ออย่างต่อเนื่องทุกปี โดยซื้อหน่วยลงทุนของ RMF อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และจำนวนเงินที่ซื้อ RMF ขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า หรือจำนวนเงินที่ซื้อ RMF ได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี ซึ่งต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อนับรวมกับการออม ได้แก่ เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตชนิดบำนาญ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหลังจากที่ลงทุน RMF มาแล้วระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถลงทุนได้ต่อเนื่อง เช่น ลาออกจากงาน ถูกเลิกจ้าง หรือประสบปัญหาทางการเงิน ผู้ลงทุนสามารถระงับการซื้อได้ แต่ต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี จึงจะไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน (ไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับมา) ลองมาดูตัวอย่างการลงทุนใน RMF ตามตารางต่อไป

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

การเว้นระยะเวลาการซื้อ RMF แบบไหนที่ผิดเงื่อนไขการลงทุน นั่นคือ การระงับการซื้อ RMF เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน จากตัวอย่างตารางข้างล่าง ผู้ลงทุนปฏิบัติผิดเงื่อนไขในปีที่ 7 ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับในช่วง 5 ปีปฏิทินที่ผ่านมา คือ ปีที่ 2-6 ภายในเดือนมีนาคมของปีที่ 8

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

กรณีที่ผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องการขาย RMF จะต้องพิจารณาอะไร และจะขายได้เมื่อไร เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไข นั่นคือ ผู้ลงทุนต้องถือครอง RMF มาไม่น้อยกว่า 5 ปีตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรกและมีการซื้อ RMF ต่อเนื่องทุกปี โดยการนับจำนวนปีจะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF เท่านั้น (การนับจำนวนปีของ RMF นับแบบวันชนวัน) และจะสามารถขายคืนได้หลังจากผู้ลงทุนมีอายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์ นั่นคือ พิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขจำนวนปีที่ถือครองต้องครบ 5 ปี และมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์

เช่น ผู้ลงทุนเกิดวันที่ 1 ส.ค. 2518 เริ่มลงทุนใน RMF วันที่ 25 พ.ย. 2562 เป็นปีแรก โดยซื้อทุกวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี ปัจจุบันมีอายุครบ 44 ปีบริบูรณ์ และจะมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 ส.ค. 2573 หากผู้ลงทุนได้ซื้อต่อเนื่องทุกปีเป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนใน RMF จะสามารถขาย RMF ตามเงื่อนไขได้หลังจากวันที่ผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่เมื่อใดที่ผู้ลงทุนเริ่มขาย RMF แล้วจะถือว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนใน RMF ตามกฎหมายได้สิ้นสุดลง การขาย RMF ส่วนที่เหลือจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สรรพากรประจำท้องที่ ดังนี้

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

แล้วเมื่อไหร่ที่ผิดเงื่อนไข จากตัวอย่างข้างล่าง ผู้ลงทุนเริ่มซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกเมื่ออายุ 44 ปี และขายคืนหน่วยลงทุนเมื่ออายุ 52 ปี ไม่ว่าจะขายคืน RMF ทั้งหมดหรือบางส่วน ถือว่าปฏิบัติผิดเงื่อนไขการลงทุน เพราะมีอายุต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

ยังมีความเข้าใจผิดของผู้ลงทุนที่คิดว่าเมื่อลงทุนในช่วงอายุที่ใกล้จะครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้วจะสามารถขายคืน RMF ได้ทันที โดยหวังว่าจะลงทุนไม่กี่ปีก็สามารถขาย RMF ได้เมื่อเข้าเงื่อนไขอายุ แต่ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ผู้ลงทุนต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งตารางข้างล่างนี้แสดงให้เห็นการทำผิดเงื่อนไข เนื่องจากผู้ลงทุนไม่ได้ซื้อ RMF ต่อเนื่องและครอบครองไม่น้อยกว่า 5 ปี แม้ว่าอายุจะครบ 55 ปีบริบูรณ์ก็ตาม ซึ่งผู้ลงทุนต้องยื่นแบบชำระคืนภาษีในปีถัดไป

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

ในกรณีที่ถูกเงื่อนไข คือ ผู้ลงทุนได้ลงทุนต่อเนื่องไปไม่น้อยกว่า 5 ปี เช่น ผู้ลงทุนมีอายุครบ 53 ปี เกิดวันที่ 25 ก.ย. 2509 เริ่มลงทุนใน RMF ครั้งแรกวันที่ 25 พ.ย. 2562 เมื่อถึงวันที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ผู้ลงทุนยังไม่สามารถขายกองทุนได้ เพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจะขาย RMF ได้เมื่ออายุ 59 ปี ในวันที่ 25 พ.ย. 2568 ซึ่งเป็นการนับแบบวันชนวัน ดังนี้

เกษียณสุขเมื่อขาย RMF ถูกเงื่อนไข

ข้อควรระวังสำหรับผู้ลงทุนมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และยังทำงานต่อจนเกษียณอายุ 60 ปี มีความประสงค์อยากใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก RMF ยังสามารถลงทุนได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องขาย RMF และควรขาย RMF หลังจากที่ผู้ลงทุนไม่มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีแล้ว โดยขายทั้งจำนวน หากเป็นการขายบางส่วนจะทำให้ส่วนที่เหลือจะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ และต้องซื้อต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งการขาย RMF ในส่วนที่เหลือจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สรรพากรประจำท้องที่

ดังนั้น การขาย RMF ที่ไม่ทำให้ผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากรมี 2 เงื่อนไข คือ จำนวนปีที่ถือครองหรือจำนวนปีที่ลงทุนนับจากลงทุนครั้งแรกมากกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จะเห็นได้ว่าการลงทุน RMF มีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และเงื่อนไขที่ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มลงทุนเพื่อที่จะไม่ทำผิดกฎเกณฑ์เงื่อนไข ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดจากคู่มือภาษีก่อนการลงทุน หรือปรึกษาผู้แนะนำการลงทุน เพื่อให้การลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย และมีเงินจับจ่ายใช้สอยหลังเกษียณอายุอย่างสุขกายสบายใจ