posttoday

รอผลข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ของสหรัฐฯ-จีน

25 พฤศจิกายน 2562

คมลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คมลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 32.10-30.40 ในสัปดาห์นี้ เงินดอลลาร์อาจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากคำปาฐกถาของนายเจอโรม โพเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะยืนยันสัญญาณการหยุดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค. นี้ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จีดีพีในไตรมาสที่ 3 ฉบับปรับปรุง และการใช้จ่ายรายบุคคลอาจสะท้อนภาพการบริโภคในประเทศที่ยังขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามสำคัญ คือ การผ่านร่างกฎหมายของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกงอาจจุดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองและกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าได้

ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะทรงตัวในระดับแข็งค่า เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงเนื่องจากตัวเลขจีดีพีไทยในไตรมาสที่ 3 ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงเปิดตลาดวันอังคารตามความเสี่ยงโลกที่กลับมาสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ของสหรัฐฯ ขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้ อีกทั้งนักลงทุนยังกังวลว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ – จีนอาจเพิ่มขึ้นหลังจากวุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนการประท้วงในฮ่องกง ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตลาดยังกังวลรอความคืบหน้าของพัฒนาการสงครามการค้ารวมทั้งความเสี่ยงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนในกรณีของฮ่องกงที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้า โดย สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ อนุมัติร่างกฎหมายสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกงด้วยมติ 417 ต่อ 1 เสียง ซึ่งได้ผ่านมติวุฒิสภามาแล้วในวันอังคาร ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของประธานาธิบดีทรัมป์ในขั้นต่อไป
ขณะที่บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของเฟดและอีซีบีชี้ว่า ธนาคารต้องการคงระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ระดับปัจจุบันเพื่อรอประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไปก่อน สอดคล้องกับบันทึกการประชุมของ กนง. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการการคลัง อาทิ การลงทุนโครงสร้างในภาวะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมากเช่นกัน ขณะที่จีนลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าค้าชั้นดีลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีลดลง 5 bps มาอยู่ที่ระดับ 4.15% ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกไทยตามระบบศุลกากรที่หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดนั้นไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนัก เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.19 (ณ 16.52 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีความอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นหลัก โดยเรื่องที่มีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้คือเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายกำลังพิจารณาขนาดการนำเข้าและอัตราภาษีนำเข้าที่จะปรับลดลง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ดังนั้นนักลงทุนต้องติดตามว่าข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 จะสามารถบรรลุได้ก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่การจัดเก็บภาษีจะมีผลบังคับใช้เพิ่มเติมหรือไม่ เพราะถ้าทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนระยะเวลาดังกล่าว โอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเซ็นข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 อาจต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า อันเป็นผลให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกปรับสูงขึ้น รวมไปถึงโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าก็จะมีมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่วุฒิสภาของสหรัฐฯ และสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ อนุมัติผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกงและต่อต้านการใช้ความรุนแรงเพื่อยุติการประท้วงของจีน ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าของทั้งสองฝ่ายได้ ทั้งนี้จากความหวังที่ข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 จะสามารถบรรลุได้ในเร็ววันกลับถูกแปรเปลี่ยนเป็นความไม่แน่นอน นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรอดูความชัดเจนต่อจากนี้และปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เป็นเหตุให้มีแรงซื้อในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.4%YoY จากไตรมาสก่อนที่ 2.3%YoY แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.7%YoY ทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ลงเหลือเพียง 2.6% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกไทยตามระบบศุลกากรหดตัวต่อเนื่องในเดือนตุลาคม โดยหดตัว 4.54%YoY มากกว่าเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 1.39%YoY ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดย ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.30% 1.30% 1.36% 1.44% 1.57% และ 1.70% ตามลำดับ

รอผลข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ของสหรัฐฯ-จีน

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 606 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 696 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,383 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 81 ล้านบาท