posttoday

WeWork สตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นที่ล้มเหลว เพราะธรรมาภิบาล

21 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง : WeWork สตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นที่ล้มเหลว เพราะธรรมาภิบาล

โดย พูนสิน เพ่งสมบูรณ์

กองทุนบัวหลวง

......................................................................................

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายถึงกรณีของ WeWork ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพดาวรุ่งพุ่งแรง ต่อแนวทางในการบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดความกังวลต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจสตาร์ทอัพโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการระดมทุน เพื่อขยายธุรกิจของบริษัทอื่นในอนาคตอันใกล้ด้วย

ประวัติของ WeWork ก่อตั้งในปี 2010 โดยมี Adam Neumann, Rebekah Neumann และ Miguel McKelvey เป็น Co-Founder ธุรกิจของ WeWork คือ การเช่าพื้นที่ในอาคาร รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ด้วยสัญญาระยะยาว และนำมาปรับปรุงพัฒนาให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นสำนักงานเพื่อปล่อยเช่าต่อใน Scale ที่เล็กลง และมีระยะเวลาเช่าที่สั้นถึงรายเดือน ถือเป็นสำนักงานที่มีสภาพแวดล้อมแบบที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า Co-Working Space

WeWork สตาร์ทอัพ ยูนิคอร์นที่ล้มเหลว เพราะธรรมาภิบาล

WeWork เกิดในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นช่วงที่เทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีความต้องการใช้ออฟฟิศที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก แต่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และมีความคล่องตัวต่อการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ WeWork สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จนในปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมให้บริการมากถึง 853 แห่ง ในกว่า 37 ประเทศทั่วโลก

น่าสนใจกระทั่ง Softbank ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Venture Capital ยอมควักเงินลงทุนใน WeWork รวมกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผลให้มูลค่าประเมินของบริษัทพุ่งขึ้นสูงถึง 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพยูนิคอร์นที่ใหญ่ที่สุด ก่อนที่บริษัทจะมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และยื่นไฟลิ่งไปแล้วในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม โลกยูนิคอร์นของ WeWork ต้องกลับสู่โลกแห่งความจริงในที่สุด หลังจากที่ไฟลิ่งได้เปิดเผยข้อมูลหลายอย่างที่นักลงทุนคาดไม่ถึงมาก่อน เริ่มตั้งแต่ผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018 บริษัทมีผลขาดทุน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และล่าสุดครึ่งแรกของปี 2019 ขาดทุนกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นว่ายิ่งมีรายได้มากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้น และไม่มีความได้เปรียบจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นเลย

นอกจากข้อสงสัยด้านโมเดลของธุรกิจแล้ว ข้อมูลที่เปิดเผยได้ก่อให้เกิดคำถามด้านธรรมาภิบาลของผู้บริหาร โดยเฉพาะ Adam Neumann ซึ่งเป็น CEO ในหลายประเด็น ซึ่งถือว่า รุนแรงกว่าและส่งผลกระทบต่อบริษัทโดยตรง โดยมีประเด็นที่สำคัญดังนี้

· หุ้นประเภท Class B และ C ที่ Neumann ถือครองนั้น มีอำนาจในการออกเสียงถึง 20 เสียง ขณะที่หุ้นประเภท Class A ที่เสนอขายมีอำนาจเพียง 1 เสียง ส่งผลให้ Neumann มีอำนาจในการควบคุมทั้งบริษัท โดยที่ผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือแม้กระทั่ง Softbank ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นสูงกว่า ก็ไม่สามารถโหวตชื่อเขาลงจากตำแหน่งได้เลย

· ด้วยอำนาจการควบคุมที่เบ็ดเสร็จของNeumann ส่งผลให้เขาสามารถกำหนดระเบียบของบริษัท โดยที่หากเขาเสียชีวิต Rebekah ซึ่งเป็นภรรยาของ Nuemann จะมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการแต่งตั้ง CEO คนใหม่ได้ทันที

· Neumann มีการแอบขายหุ้น WeWork ทั้งที่บริษัทกำลังอยู่ในขั้นตอน IPO ซึ่งทำเงินให้เขากว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

· ในขณะเดียวกัน Neumann รวมถึงผู้บริหารระดับสูงรายอื่น มีการกู้เงินกว่า 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก WeWork ที่อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ รวมทั้งใช้วงเงิน Credit Line ของ WeWork ในการกู้ยืมจากธนาคาร 3 แห่งรวม 486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

· มีความเป็นไปได้ว่า Neumann ได้ใช้เงินกู้ดังกล่าวไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก่อนทำการปล่อยเช่าให้กับ WeWork จำนวน 4 แห่ง

· WeWork มีการซื้อเครื่องบิน Private Jet มูลค่ากว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผู้ที่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องบินหรูลำนี้ในการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ก็คือ Neumann เอง โดยพนักงาน WeWork รายหนึ่งกล่าวว่า เขาต้องใช้เวลาทำงานกว่า 3 วัน ในการดาวน์โหลดรายการทีวีกว่าพันรายการให้ครอบครัวของ Neumann ดูบนเครื่องบิน

· WeWork ต้องจ่ายเงินจำนวน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเปลี่ยนชื่อเป็น The WE Company ซึ่ง Neumann เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บนชื่อ WE ดังกล่าว

· นอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว WeWork ยังถูกโจมตีในประเด็นด้านสังคมอีกด้วย โดยมีคำถามถึงความเท่าเทียมในสำนักงานจากการที่ผู้บริหารระดับสูงของ WeWork ไม่มีผู้หญิงเลยสักคน นอกจากนี้ ยังมีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศภายในการทำงาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากนโยบายการเสิร์ฟเบียร์ฟรีในที่ทำงานอีกด้วย

ข้อมูลที่เปิดเผยทั้งหมดนี้ ส่งผล WeWork ในปัจจุบันอยู่ในสภาวะหมดสภาพ โดยถึงแม้จะมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา มีการบีบให้ Neumann ลาออกจากตำแหน่ง CEO รวมถึงเตรียมปลดผู้บริหารเก่ายกทีม เพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจาก Softbank กว่า 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ความน่าเชื่อถือของบริษัทคงไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ง่ายๆ แผนการ IPO ต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นสิ้นปีนี้ ขณะที่มูลค่าประเมินของบริษัทก็ถูกปรับลดลงเหลือเพียง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนแผนธุรกิจเองก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถทำกำไรได้เมื่อไร

กรณีของ WeWork สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ถือว่าผู้เสียหายยังอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด ลองพิจารณา หากว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะมีผู้เสียหายเป็นวงกว้างขนาดไหน

เหตุการณ์ดังกล่าวให้ข้อคิดในแง่ความสำคัญของธรรมาภิบาล รวมถึงหลักการอื่นที่เกี่ยวข้องตามหลัก ESG ต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว หากเราไม่มีการขับเคลื่อนองค์กรให้มีกระบวนการตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้มีประสิทธิภาพพอ สุดท้ายแล้วเมื่อความจริงเปิดเผยก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของธุรกิจอย่างร้ายแรง และนักลงทุนเองที่จะเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น กองทุนบัวหลวงจึงให้ความสำคัญต่อการจัดการด้าน ESG เป็นอย่างมาก เพราะเราคงไม่อยากลงทุนในธุรกิจที่เติบโตได้ในระยะสั้น แต่ไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว

อ้างอิง https://therealdeal.com/national/2019/08/14/weworks-ipo-filing-sheds-light-on-a-startup-posting-massive-losses-while-issuing-massive-loans-to-executives/