posttoday

มารู้จักหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ลักษณะคล้ายทุน

20 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...นภัสกร สัมมะสุต ผู้จัดการทีมที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ AFPT TM ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...นภัสกร สัมมะสุต ผู้จัดการทีมที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ AFPT TM ธนาคารกสิกรไทย

“การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเสี่ยงกว่า ”

คำกล่าวนี้ยังถูกต้องเสมอ ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลงอีก 0.25% มาที่ 1.25% (มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน 6 พฤศจิกายน 2562) โดยอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

การฝากเงินแบบเดิม ๆ ที่เรารู้จักกันดี อย่างเงินฝากประจำหรือกองทุนตราสารหนี้แบบมีระยะเวลา ก็จะมีอัตราดอกเบี้ยโดยรวมลดต่ำลงไปด้วย ทำให้เราต้องสรรหาการลงทุนแบบอื่นๆ ที่ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนที่จะต้องตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น

ช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ เข้ามาเสนอขายในตลาดการเงินกันอย่างมาก โดยหนึ่งในตราสารที่นักลงทุนให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลาย ก็คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนไถ่ถอนคืนเมื่อเลิกกิจการหรือ Perpetual Bond ชูความน่าสนใจด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ก่อนจะลงทุนเรามาทำความเข้าใจกับสักนิด เพราะหุ้นกู้แบบนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน เรามาดูกันว่าจะลงทุนอย่างไรให้ตอบโจทย์สำหรับแต่ละคน

เข้าใจ Perpetual Bond

หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนเป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนแบบ Hybrid ซึ่งในมุมมองของบริษัทที่ออกหุ้นกู้นี้ (เราเรียกผู้ออกว่า Issuer) หุ้นกู้นี้คือ หนี้ ที่บริษัทคนออกเป็น “ลูกหนี้” ของคนซื้อหุ้นกู้อย่างพวกเรา (ซึ่งเรียกว่า Holder) แต่ในทางบัญชี บริษัทสามารถบันทึกหุ้นกู้เหล่านี้เป็นเงินทุน (Equity) ของบริษัทได้ เพื่อรักษาสัดส่วนระหว่างทุนและหนี้สิน (Debt to Equity Ratio) ในระดับที่พอเหมาะและในมุมมองของคนซื้อเราจะเป็น “เจ้าหนี้” ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้นี้ แต่สิทธิการรับชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนจะ “ด้อยสิทธิ” กว่าเจ้าหนี้บางประเภท ดังนั้นจึงเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงกว่าหุ้นกู้ปกติ

เข้าใจ ด้อยสิทธิ เราด้อยตรงไหนและอย่างไร

จุดเสี่ยงที่ทำให้หุ้นกู้ประเภทนี้แตกต่างจากตราสารหนี้อื่นก็คือ “ การด้อยสิทธิ Subordination ” ซึ่งหลักการก็คือ ถ้าบริษัทที่ออกตราสารไม่สามารถจ่ายคืนหุ้นกู้นี้ได้และล้มละลาย เราจะได้รับชำระหนี้คืนตามลำดับดังนี้

1. เจ้าหนี้รัฐบาล หรือกรมสรรพากร

2. เจ้าหนี้มีหลักประกัน

3. เจ้าหนี้สามัญหรือเจ้าหนี้การค้า และผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

4. ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ

5. ผู้ถือหุ้นสามัญบริษัท

สรุป เราอยู่อันดับถัดมาจากผู้ซื้อหุ้นกู้ปกติหรือไม่ด้อยสิทธิ แต่สิ่งที่บริษัทชดเชยในความด้อยสิทธิของเราคือ ดอกเบี้ยที่ให้สูงกว่าหุ้นกู้ปกติ โดยหลักมักมี 2 แบบคือ

- อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุหุ้นกู้ ซึ่งถ้าอัตราดอกเบี้ยคงที่แบบนี้มักเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีกำหนดเวลาไถ่ถอนเงินต้นชัดเจน เช่น ดอกเบี้ยคงที่ 5.125% ต่อปี(ก่อนหักภาษี 15%) มีกำหนดไถ่ถอนคืน 10 ปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน

- อัตราดอกเบี้ยผสมระหว่างคงที่ในช่วงแรก และหลังจากนั้นลอยตัวมีการปรับกันทุก 5 ปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยผสมแบบนี้มักเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ไม่มีระยะเวลาไถ่ถอนหรือไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ เช่น ดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อปี(ก่อนหักภาษี 15%) ใน 5 ปีแรก และหลังจากนั้นอ้างอิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี + Initial Credit Spread(ส่วนชดเชยความเสี่ยงของตลาด ณ เวลานั้นๆ แยกตามอายุและอันดับความน่าเชื่อถือ)

เข้าใจ เงื่อนไข รู้ไว้ประกอบการตัดสินใจ

เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการ ที่ทำให้หุ้นกู้ประเภทนี้ต่างจากหุ้นกู้ทั่วๆ ไปคือ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิมีสิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและไม่จำกัดจำนวนครั้งตามดุลยพินิจของบริษัทแต่เพียงผู้เดียว นั่นหมายถึงถ้าบริษัทไม่พร้อมที่จะจ่ายดอกเบี้ยบริษัทสามารถสะสมดอกเบี้ยทบไปจ่ายงวดถัดไปหรืองวดใดก็ได้หลังจากนั้นโดยไม่มีข้อจำกัด เงื่อนไขนี้อาจทำให้นักลงทุนต้องหยุดคิดเพราะ ดอกเบี้ยที่คาดหวังจะได้รับทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือน อาจไม่จ่ายตรงตามที่เคยคาดไว้ อย่างไรก็ดี ถ้าบริษัทมีการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยกับผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ บริษัทก็ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น(ซึ่งเป็นส่วนของเจ้าของ) ได้ด้วยเช่นกัน

เพื่อความสบายใจของเราก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ควรหาข้อมูลการดำเนินธุรกิจของบริษัท แผนการขยายธุรกิจ และศึกษานโยบายจ่ายเงินปันผลของบริษัทผู้ออกว่าจ่ายปันผลบ่อยแค่ไหน มีนโยบายจ่ายปันผลอย่างไร

เข้าใจ Credit Rating บริษัท ซื้อได้สบายใจ

Credit Rating หรืออันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้(Issuer) จะเป็นเครื่องมือที่จะบอกว่าบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยและชำระคืนเงินต้นได้ดีแค่ไหน ถ้าอยู่ในระดับ BBB ขึ้นไปจนถึง AAA จะถือว่าหุ้นกู้อยู่ในระดับที่น่าลงทุน หรือ Investment Grade ดังนั้นดอกเบี้ยก็จะต่ำ แต่ถ้าเรทติ้งต่ำกว่า BBB ลงไปถือว่าเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น (Non-Investment Grade) ทำให้ต้องจูงใจผู้ลงทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่วนใหญ่ในเมืองไทยหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ออกจะมี Tris Rating Co,Ltd เป็นบริษัทผู้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้

เข้าใจ ว่าอยากได้ดอกเบี้ยสูง แต่เหมาะกับเราหรือไม่

ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่ได้เหมาะกับทุกคน ลองพิจารณาคุณสมบัติต่อไปนี้ว่าใช่คุณหรือไม่ ถ้าไม่ตรงเลยสักข้อ มองหาการลงทุนแบบอื่นๆ อาจจะเหมาะสมและลงทุนได้สบายใจกว่า

1. เงินลงทุนก้อนนี้เป็นเงินเย็นหรือต้องเป็นเงินที่คุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี หรือมากกว่านั้น

2. คุณมีการจัดสรรเงินลงทุน( Asset Allocation) ในสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ ไว้แล้วอย่างเหมาะสมทำให้มีกระแสเงินสดรับจากการลงทุนหลายทาง และการลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธินี้เป็นเพียงการลงทุนหนึ่งในสัดส่วนที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเงินลงทุนทั้งหมดของคุณ

3. คุณไม่มีภาระหนี้ ที่มีดอกเบี้ยจ่ายสูง

4. เข้าใจและยอมรับได้ ตั้งแต่แรกว่าเมื่อครบ 5 ปี บริษัทอาจไม่ไถ่ถอนหุ้นกู้นี้ทำให้คุณไม่ได้รับเงินต้นคืน แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนตามที่บริษัทได้แจ้งไว้

เมื่อเข้าใจ Perpetual Bond และเงื่อนไขต่าง ๆ แล้วคุณคงตอบตัวเองได้ดีขึ้นว่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิเหมาะกับเราหรือไม่ ในภาวะดอกเบี้ยต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี เช่นนี้ อยากให้ลองเปิดใจรับความเสี่ยงกันดูสักนิด ในเมื่อไม่ลงทุนแล้วเสี่ยงกว่าก็อย่ารอช้าที่จะเริ่มลงทุนด้วยความเข้าใจและศึกษาข้อมูลในสินทรัพย์ที่คุณเลือกเพิ่มเติมด้วยการจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสม แค่นี้ภาวะดอกเบี้ยต่ำก็ไม่สามารถทำอะไรคุณได้แล้ว สุดท้าย “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุน”