posttoday

เมื่อพายุสามลูกมารวมกันและพัดผ่านระบบเศรษฐกิจของเรา

18 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 32/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 32/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทความวันนี้เกิดจากการที่ได้ไปรับรู้รับฟังมาจากนักวิชาการที่ทำงานติดดิน เดินทางทำวิจัย สอบถามผู้คน ไม่ใช่แบบ (1) นั่งอยู่ในรั้วในวังแล้วคิดเอาจากข้อมูลที่ไปบังคับให้คนเขาส่งมาให้ หรือแบบประเภท (2) เอามือถูไถไปบนโทรศัพท์มือถือ หยิบเอารายงานที่นั่นหน่อย ที่นี่หน่อยมาผสมผสานกันแล้วก็ยกร่างขึ้นมาใหม่ แล้วอ้างว่ามันไม่ต้องท่องไปในโลกความจริงหรอก เอาข้อมูลจากโลกเสมือนจริงมาเขียนก็ได้ หรืออีกแบบ (3) ประเภทหนึ่งที่ผมต้องขอบอกว่ารังเกียจมากคือพวกอุปทานตัวเองเป็น ผู้นำเครือข่าย กรรมการสมาพันธ์ แล้วก็ต่อด้วยภาษาที่ใครก็ไม่เข้าใจ เช่น สุขภาวะวิถี-ชีวียั่งยืน-ฟื้นฟูนิเวศ-เศรษฐกิจพิชิตมาร อะไรประมาณนี้ จากนั้นก็จะสร้างเวทีเสวนากันโดยเอาเงินมาจากไหนก็ไม่รู้ แล้วก็ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม ส่วนให้ก็ใช้วิธีการ Facebook live ในการสื่อสาร Agenda ที่ซ่อนเร้นที่ตนเองตั้งใจจะบอกเพื่อหลอกด่าภาครัฐ หรือองค์กรที่ตนเองไม่ชอบ หรือตนเองเคยเป็นกรรมการแต่ผิดหวังเพราะทำอะไรก็ไม่สำเร็จเลยต้องออกมา (แต่อ้างความชอบธรรมจากชื่อวิทยากร) จะชอบไม่ชอบก็ขอเรียนว่าเป็นมุมมองของผู้เขียนนะครับ

กลับมาถึงข้อมูลที่อยากจะเรียนตามหัวข้อข้างต้น คือว่ามันมีประเด็นสำคัญสัก 3 ประการที่ได้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแก่ระบบเศรษฐกิจสังคมในแทบทุกประเทศ ทุกอุตสาหกรรม สิ่งที่ว่านั้นคือ

1. การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี เราจะเห็นได้ว่านับแต่ระบบคอมพิวเตอร์เรานั้นประมวลผลได้เร็วขึ้นมากๆจากในอดีต มีหน่วยความจำที่มากขึ้นกว่าในอดีต มันเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ย้อนหลังลงไปไม่เกินยี่สิบปี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทำงานเราได้สร้างงานสร้างอาชีพมากมาย วันนี้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในมือของเรากลับมีประสิทธิภาพอาจจะมากกว่า Super computer ในอดีตมากมาย ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องมือตรงนี้มันสามารถจะสื่อสารกันได้เองแบบ machine to machine มันสามารถเรียนรู้ว่าหนทางที่ดีกว่าเดิมที่ถูกป้อนข้อมูลให้ทำตอนแรกนั้นคืออะไร มันสามารถประมวลผลข้อมูลในหลากหลายรูปแบบทั้งที่มีรูปแบบชัดเจนกับข้อมูลที่ไร้รูปแบบที่ระบบปฏิบัติการระบบประมวลผลแบบดั้งเดิมนั้นทำไม่ได้ เช่น เอาข้อมูล Location มาผสมกับข้อมูลภาพ เสียง หรือรายการธุรกรรมแล้วออกมาเป็นความลับในสิ่งอันเป็นพฤติกรรมของผู้คน เพื่อการวางแผนงานทางธุรกิจ เป็นต้น สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจต้องปรับปรุงคน งาน เงิน และเครื่องมือไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่อะไรๆก็ต้องการเดี๋ยวนี้ เวลานี้ อยากได้ ต้องได้ ตัวอย่าง เช่น สี่ทุ่มครึ่งอยากกินผัดไทยห่อไข่ ไม่ต้องออกจากบ้าน สั่งของกิน จ่ายเงินผ่านกระเป๋าเงินในโทรศัพท์ อีกไม่กี่นาที ก็มีคนทำหน้าที่ส่งของ ส่งอาหารที่เราสั่งตอบโจทย์ความขี้เกียจของตัวผู้บริโภค ธุรกิจแบบที่ตัวกลางหายไป หรือมีระบบกลางมาดูแล มันทำให้คนที่ไม่ปรับตัวต้องล้มหายตายจาก สังเกตนะครับคนที่ออกมาร้องให้รัฐเอาภาษีมาอุ้ม ต้องมีเงินกู้ดอกเบี้ยถูกมาอุ้ม แต่ตัวเองจะอยู่แบบเดิมๆ มันแฟร์กับคนเสียภาษีหรือไม่

2. การรบกันของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้งที่เป็นสงครามจริง ฆ่ากันจริง แต่ผ่านประเทศตัวแทน การมีความขัดแย้งไม่รู้จบสิ้นในหลายภูมิภาค หรือการก่อสงครามการค้าระหว่างกัน ขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมา เจรจาแล้วก็ล้ม แล้วก็เลื่อน หุ้นก็สามวันดีสี่วันลบ ผันผวนกันไปหมด การผลิตที่เชื่อมโยงกันทั่วโลกแบบแบ่งงานกันทำมันก็กระทบไปหมด ของก็เดี๋ยวถูกเดี๋ยวแพง ผมลองคิดเล่นๆ นะครับ มีช้างสามตัวลงมาเล่นน้ำ ทะเลาะกันในบ่อเล็ก ตัวที่หนึ่งกับตัวที่สองชอบตีกัน เอางาทิ่มกัน ตัวที่สองกับตัวที่สามไม่ทะเลาะกันแบบตีกันแต่ชอบเอาเท้ากระทืบน้ำให้มันกระเด็นใส่กันหรือพ่นน้ำใส่กันแบบแรงๆ แต่ตัวที่หนึ่งกับตัวที่สามกลับมีใจให้กันแอบสบตากันบ่อยๆ คือรักระหว่างสมรภูมิรบ ถ้าประเทศเราคือปลาสลิดในบ่อ ประเทศญี่ปุ่นคือปลาพะยูนในบ่อ มันจะวุ่นวาย เวียนหัว เมาคลื่นลมในบ่อกันประมาณไหน ไม่ต้องพูดถึงว่าต้องหลบงาที่ทิ่มใส่กัน ขืนพลาดก็เลือดตกยากออก

3. ผู้คนในประเทศเรามีคนสูงวัยมากขึ้น คนที่มีอายุเกิน 60 ปีมีกี่ ของประชากรทั้งหมด คนที่มีอายุเกิน 65 ปี มีกี่ ของประชากรทั้งหมด อัตราการเกิดของเด็กลดลง คนหนุ่มสาวกำลังมีสัดส่วนมากขึ้น เขาเหล่านั้นบ้างก็เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤติในปี 2540 บ้างก็เจอกับวิกฤติปี 2551 แต่ถ้าเป็น Gen Z เขาแทบไม่รู้จัก คนรุ่นเก่าก็เอาแต่พยายามจะยึดโลกใบเก่าให้อยู่ในยุคตัวเอง หวงกับอำนาจเอาไว้ ชอบใช้วาทกรรมว่า "ในสมัยผมนะ... เราจะทำแบบนี้" หรือ "ผมอาบน้ำร้อนมากกว่าคุณกินข้าว" ในขณะที่ไม่พยายามเตรียมคนรุ่นถัดไปให้สู้กับปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร เทคโนโลยีที่ยังไม่เกิด เครื่องมือที่ยังไม่ได้สร้าง

คำถามคือเมื่อถึงเวลาที่คนรุ่นเก่าหมดแรงและคนรุ่นใหม่ป้อแป้ เอาแต่จะเป็นศิลปินนักร้อง เราจะเอาสรรพกำลังไหนไปขับเคลื่อนประเทศ คนหนุ่มสาวในประเทศจีนที่ผู้เขียนไปดูงานเขามีหลักการทำงาน 996 กล่าวคือทำงาน 9 โมงเช้าถึง 9 โมงกลางคืนหรือสามทุ่ม ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ถ้าทำงานโครงการที่คิดสำเร็จจะได้ทุนเป็นล้านหยวนออกไปตั้งกิจการเป็น Start up แต่ในเวลานี้ของบ้านเราผู้นำวัยหนุ่มสาวก็ติดกับดักทะเลาะกับคนสูงวัย เหยียดกัน เฉี่ยวกัน ทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์ คนสูงวัยก็ไม่ทำตัวให้น่านับถือ คนเป็นเด็กก็ร้อนวิชาเกินเลย แบบว่าร้อนเป็นไฟละลายตรงเธอ มันจะอยู่ไม่เป็น หรืออยู่ให้เป็น หรืออยู่ให้สงบ หรืออยู่อย่างฉลาด หรืออยู่ไปวันๆ นั่งหายใจทิ้ง หรืออยู่แบบเปลืองข้าวสุก มันก็ล้วนเป็นคนไทยที่ต้องอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ฮ่องกงเคยมองเราอย่างไร ตอนนี้เราก็มองฮ่องกงอย่างนั้น

ทั้งสามพายุได้พัดผ่านเข้ามาในระบบเราแล้ว บางครั้งหอบเอา PM2.5 เข้ามาด้วย เราจะได้เห็นผู้รอดชีวิตจริง ผู้ที่ต้องล้มหายตายจากจริง คนที่หนีความจริง คนที่รับความจริง คนที่อยู่ได้หรือไม่ได้กับความจริงในปี 2563 ในอีกไม่นาน

สติมา ปัญญาเกิด

สติเตลิด จะเกิดแต่ปัญหา

หยุดพูดและหันมาฟัง

เพราะการฟังคือการอ่านในสิ่งที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เราแยกแยะได้ แต่ถ้าเราเอาแต่พูดแล้วเราจะได้ยินได้อ่านอะไรที่มันจะมาเป็นทางออกของชีวิตล่ะ...ขอบคุณครับ