posttoday

เศรษฐกิจโลกโตช้าๆ อย่างเปราะบางภายใต้กฎใหม่

12 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายผ่านธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกมีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน คือเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดตัว ธนาคารกลางจะเพิ่มเงินในระบบทำการลดดอกเบี้ยเพื่อให้มีการกู้ยืมเงินไปดำเนินธุรกิจ หรือใช้จ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มเติบโตเร็วเกินไป ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางก็จะดึงเงินออกจากระบบโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย วัฏจักรทางเศรษฐกิจเป็นแบบนี้มาหลายสิบปี แต่แนวทางดำเนินนโยบายดังกล่าวได้เริ่มเปลี่ยนไปอย่างมีนัย ในช่วง 10 ปีให้หลัง ความเชื่อมโยงระหว่างอัตราการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ เริ่มมีสัมพันธ์กันน้อยลง จะเห็นได้จากในปัจจุบันอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.5% ต่ำสุดในรอบ 50 ปี แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่เพียงแค่ 1.4% เท่านั้น

มีนักเศรษฐศาสตร์เริ่มพูดถึงมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นคล้ายๆ กับเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าไปทุกที สังคมผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพของกำลังการผลิตที่สูงขี้น ปัจจัยการผลิตอื่นๆ เมื่อรวมกับผลของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่สหรัฐฯได้เริ่มนำมาใช้นับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งขณะนั้นคาดว่าจะเป็นมาตรการชั่วคราว แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเป็นมาตรการถาวรไปเสียแล้ว และธนาคารกลางต่างๆ หันมาใช้มาตรการทางการเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ทุกเมื่อถ้าอัตราเงินเฟ้อยังคงไม่สูงขึ้นแม้ว่าเศรษฐกิจยังไม่ถดถอยกำลังป็นมาตรการ “ปรกติ” ซึ่งต่างจากนโยบายในอดีตมาก

ด้านมาตรการทางการคลังกำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนโลกในหลายประเทศ เช่น อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ที่มีปริมาณการกู้ยืมภาครัฐต่อจีดีพีที่สูงมากอยู่แล้ว (เกิน 100 %) หากดอกเบี้ยขยับสูงขึ้นและยังกู้ยืมเพิ่มขึ้นอีกอาจส่งผลลบกับทางเศรษฐกิจได้ แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่สามารถขยายมาตรการทางการคลังได้ เช่น เยอรมนี ไทย เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลระยะยาวทำให้เศรษฐกิจโตอย่างช้าๆ ดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับต่ำ เงินเฟ้อก็ต่ำ สิ่งที่ตามมากับการที่ภาครัฐฯขยายมาตรการการคลังในขณะที่มาตรการทางการเงินก็กำลัง “ฟุ้ง” และเศรษฐกิจยังไม่ได้ทรุดอย่างมีนัย เพิ่มความเปราะบางในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสที่เงินเฟ้อสูงจะปรับตัวสูงขึ้นเป็นระยะและเกิดการขยายซึ่งจะมาจากการขอเพิ่มค่าแรง และหดตัวซึ่งจะมาจากนโยบายทางการเงินเพื่อคุมเงินเฟ้อในระยะสั้น

วันนี้เราอยู่ในยุคที่ธนาคารกลางจะออกมาบอกว่าจะกระตุ้นจนกว่าเงินเฟ้อถึงหรือเกินเป้าเล็กน้อย ต้องยอมรับว่ามาตรการต่างๆ ที่ธนาคารกลางและภาครัฐทั่วโลกกำลังทำอยู่นั้นน่าที่จะประคองให้เศรษฐกิจโลกโตได้ช้าๆ มีดอกเบี้ยต่ำๆ มีเงินเฟ้อต่ำๆ แต่มีความเปราะบางที่จะเกิดเงินเฟ้อระยะสั้นๆ มากขึ้น ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยและเศรษฐกิจจะโตอย่างช้าๆ กลยุทธ์ลงทุนที่น่าจะมีผลดีในอีกหลายๆ ปีคือการหาตราสารหนี้ที่มีดอกเบี้ยที่สูงขึ้น Carry trade เพราะการที่ปริมาณเงินยังท่วมท้นและดอกเบี้ยกำลังลงเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ในโลกจะยังไม่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำได้โดยการเพิ่มความเสี่ยงในเครดิตของตราสารหนี้ให้สูงขึ้น ซึ่งสมควรมากับการกระจายความเสี่ยงด้านเครดิตด้วย