posttoday

การต่อสู้ของ Libra และทรรศนะของการเงินอิสลามต่อสกุลเงินดิจิทัล

12 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร. ศรัณย์ ศานติศาสน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งทศวรรษนับตั้งแต่การถือกำเนิดของ Bitcoin ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยคนหรือกลุ่มคนที่ใช้นามแฝงว่า Satoshi Nakamoto สกุลเงินดิจิทัลหรือ Cryptocurrency กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงกว้างในฐานะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน Facebook สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกมีแผนจะเปิดตัว Libra สกุลเงินดิจิทัลใหม่ภายในปีหน้า หากประสบความสำเร็จ Libra จะเข้ามาปฏิวัติวิธีการจ่ายเงิน โอนเงิน ของผู้คนทั่วโลก ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินเป็นเรื่องที่ง่าย เร็ว และประหยัดเสมือนการส่ง SMS ระหว่างกัน ซึ่งทำได้ทุกที่และทุกเวลา อย่างไรก็ตาม การไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย Facebook จะต้องต่อสู้กับอุปสรรคอีกมากมาย

ภายหลังแรงกดดันจากฝ่ายกำกับดูแลในหลายประเทศทั่วโลก อีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง Ebay ธุรกิจจ่ายและโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตอย่าง PayPal หรือแม้แต่ Visa และ Mastercard ที่ให้บริการบัตรเครดิตและเดบิตทั่วโลกก็ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากสมาคม Libra ซึ่งภายหลังเหตุการณ์นี้ สมาชิกที่เหลืออีก 21 องค์กรได้นัดประชุมกันที่สำนักงานใหญ่ ณ เมืองเจนีวาเพื่อทบทวนกฎบัตรและเลือกคณะกรรมการของสมาคม เป็นการส่งสัญญาณถึงความตั้งใจในการเปิดตัว Libra และว่าพวกเขาจะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

Libra ได้รับแรงต้านจากหน่วยงานกำกับดูแลของหลายประเทศ ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเป็นสกุลเงินดิจิทัลแรกที่กลายเป็น “เงินตรา” ซึ่งผู้คนใช้กันอย่างแพร่หลาย ที่ผ่านมา สกุลเงินดิจิทัลหลายสกุลยังคงไม่สามารถแสดงบทบาทหรือหน้าที่ของการเป็นเงินได้อย่างสมบูรณ์ เช่น หลายสกุลประสบกับปัญหามูลค่าที่ผันผวนจนนำไปสู่การเก็งกำไร ซึ่งทำให้ผู้ใช้ยากที่จะคาดการณ์ว่าหนึ่งหน่วยของสกุลเงินดิจิทัลนั้นสามารถซื้อสินค้าและบริการได้เท่าไหร่ นอกจากนี้ ปัญหายังทำให้ไม่สามารถเป็นแหล่งสะสมเงินออมที่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่นิยมใช้กันทั่วโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐหรือยูโร ที่สำคัญยังมีเพียงไม่กี่ประเทศหรือร้านค้าที่ยอมรับการทำธุรกรรมหรือการซื้อขายด้วยสกุลเงินดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม พี่มาร์คและผองเพื่อนได้วางแผนไว้แล้วว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้เช่นไร หนึ่ง ใช้ระบบตะกร้าเงินในการกำหหนดค่าของ Libra ซึ่งค่าของมันจะผูกติดอยู่กับสินทรัพย์ทางการเงินต่าง ๆ ที่มีความผันผวนต่ำ เช่น เงินฝากธนาคารกับตราสารรัฐบาล เพื่อควบคุมความผันผวนของมูลค่า นำมาซึ่งความเชื่อมั่นในความสามารถที่จะแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการ สอง ด้วยจำนวนผู้ใช้ Facebook มากกว่าสองพันล้านคนหรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก Libra จึงมีศักยภาพที่จะได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

สกุลเงินดิจิทัลอาจเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผู้คน หลายฝ่ายสงสัยและตั้งคำถามว่ามันจะเข้ามา “Disrupt” แต่ละวงการอย่างไร สำหรับรัฐบาลทั่วโลกแล้ว การที่สกุลเงินดิจิทัลจะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในฐานะสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอาจเป็นสิ่งที่ทำใจได้ยากโดยเฉพาะหากจะเข้ามาแทนที่เงินตราที่ใช้กันอยู่ในแต่ละประเทศ บางประเทศอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมันอาจยืดหยุ่นสำหรับการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัล แต่บางประเทศก็ถึงขั้นแบน

หน่วยงานด้านนโยบายการเงินส่วนใหญ่เป็นห่วงในแง่ผลกระทบด้านเสถียรภาพของตลาดการเงินและสถาบันการเงิน รวมทั้งการใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายซึ่งอาจทำให้ควบคุมดูแลได้ยากขึ้น ด้วยขนาดของเครือข่าย Facebook ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวหากมีการใช้ Libra จึงเป็นเรื่องสำคัญ สมาคมมิได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้โดยมีความตั้งใจที่จะร่วมมือในกระบวนการกับฝ่ายกำกับดูแล ฝ่ายกฎหมาย และธนาคารกลางของหลายประเทศ เพื่อทำให้การใช้ Libra เป็นสิ่งถูกต้อง เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้คนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สมาคมยังมีอุปสรรคทางการเมืองอีกมากมายที่จะต้องเอาชนะ การพิมพ์เงินเป็นสิทธิ์และอำนาจที่รัฐมี ซึ่งอำนาจผูกขาดนี้คงยากที่ใครจะยอมปล่อยไปง่าย ๆ

นอกจากสกุลเงินดิจิทัลจะถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในแวดวงการเงินดั้งเดิม (Conventional Finance) แล้ว ยังถูกยกขึ้นมาอภิปรายอย่างเข้มข้นในแวดวงการเงินอิสลาม โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าสกุลเงินดิจิทัลได้รับการอนุมัติตามหลักการของอิสลามหรือไม่?

งานวิจัยของ ADAB Solutions พบว่า แม้มุสลิมทั่วโลกจะลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลเพียงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่นที่ลงทุนถึงร้อยละ 1 แต่ด้วยอัตราการเกิดที่สูงกว่า โดยคาดว่า ในอีกไม่กี่ทศวรรษประชากรมุสลิมจะมีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของประชากรโลก รวมทั้งอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ในระบบการเงินอิสลามกว่าร้อยละ 15 ต่อปี จึงทำให้ตลาดนี้เป็นที่น่าสนใจและไม่ควรถูกมองข้าม ระบบการเงินอิสลามวางอยู่บนหลักการทางด้านศาสนา การดำเนินการจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) การทำธุรกรรมและการลงทุนจะต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย การพนัน และธุรกิจที่ขัดต่อหลักการของศาสนา เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ดอกเบี้ย การพนัน แอลกอฮอล์ สื่อลามกอนาจาร และสุกร นอกจากนี้ จะต้องปราศจากการเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง ความคลุมเครือ และความไม่โปร่งใส Short Selling จึงเป็นตัวอย่างของการลงทุนที่อิสลามไม่ส่งเสริม

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอิสลามมีทรรศนะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ เห็นว่าสกุลเงินเงินดิจิทัลเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุมัติ (ฮาลาล) กับเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรละเว้น (ฮะรอม) กลุ่มแรกให้เหตุผลถึงผลกระทบเชิงบวก เช่น การลดต้นทุนทางธุรกรรม หรือ การทำให้คนจำนวนมากขึ้นเข้าถึงบริการทางการเงิน ส่วนกลุ่มหลังให้เหตุผลในเรื่องของการเก็งกำไรและความผันผวนของมูลค่า รวมทั้งการไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลหรือกฎหมายที่ชัดเจน ที่จะช่วยปกป้องและดูแลผู้คนที่ทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดิจิทัล อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินอิสลามหลายแห่งได้ริเริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลกันแล้ว ถึงแม้จะยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนถึงความ “ฮาลาล” ของสกุลเงินดิจิทัล แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดทั้งในแวดวงการเงินอิสลาม หรือการเงินดั้งเดิมอย่างในกรณีของ Libra คือ การต่อสู้ที่จะฝ่าฟันอุปสรรค การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วน่าจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคเมื่อมี “ทางเลือก” เพิ่มขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงินครับ