posttoday

ติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของยูโรโซนและเยอรมนี

11 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 32.20-30.50 ในสัปดาห์นี้ คาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อโดยมีปัจจัยกดดันจากพัฒนาการการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายส่งสัญญาณว่าอาจยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันหากทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงการค้าระยะแรกสำเร็จ ส่งผลให้นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นและเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันให้อ่อนค่าหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการลดการแข็งค่าของเงินบาท ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดรอติดตามการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของเยอรมนี ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่องและเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินยูโร นอกจากนี้ นักลงทุนรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นเพื่อประเมินทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป หลังความเสี่ยงสงครามการค้าเริ่มผ่อนคลายลงและอาจทำให้ตลาดลดคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์

เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเปิดตลาดที่ระดับ 30.16 และแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามสัญญาณบวกของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วงกลางสัปดาห์หลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติให้ลดดอกเบี้ยลง 25 bps มาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เท่ากับวิกฤตช่วงปี 2009-10 โดยชี้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอลงมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ กรรมการอีก 2 ท่านสนับสนุนให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ธปท. ประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท ดั้งนี้

(1) อนุญาตให้ผู้ส่งออกสามารถคงรายได้จากการส่งออกไว้ในต่างประเทศโดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาท สำหรับยอดการส่งออกที่ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์โดยไม่มีกำหนดวันสิ้นสุด

(2) ผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนรายย่อยไทยให้ลงทุนในต่างประเทศได้สูงสุด 200,000 ดอลลาร์ต่อปี โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันการเงินไทย และให้ธุรกิจและบุคคลสามารถโอนเงินไปต่างประเทศได้อย่างเสรีจากเดิมที่จำกัดอยู่ที่ 50,000 ดอลลาร์ เป็น 200,000 ดอลลาร์

(3) เพิ่มวงเงินการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบันจากเดิม 100,000 ล้านดอลลาร์เป็น 150,000 ล้านดอลลาร์ และ (5) มาตรการการชำระการซื้อ-ขายทองคำ ให้ผู้ค้าทองที่ได้รับอนุญาตสามารถซื้อ-ขายทองโดยใช้เงินตราต่างประเทศได้ผ่านบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD)
โดยมาตรการทั้งหมดนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 8 พฤศจิกายน เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์เนื่องจากนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย หลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ – จีนส่งสัญญาณยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกันหากทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.38 (เวลา 17.00)

ประเด็นสำคัญในตลาดตราสารหนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยลง 25 bps มาอยู่ที่ 1.25% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมากกว่าที่ประเมินไว้ จึงเห็นควรให้มีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมไปถึงช่วยผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ ธปท. ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท ทั้งนี้จากการประเมินท่าทีล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย คงมีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวผิดไปจากที่ได้ประเมินไว้พอสมควร และถ้าสถานการณ์ในภาพรวมยังไม่ดีขึ้นในระยะข้างหน้า โอกาสที่เราจะได้เห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีหน้าก็ดูมีความเป็นไปได้เช่นกัน

ขณะที่การปรับตัวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยภายหลังจากการประชุม ปรากฏว่าเส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันที่สูงขึ้น กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าจะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้ รวมไปถึงประเด็นเรื่องการเจรจาสงครามการค้าที่ดูดีขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีกระแสข่าวที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนส่งสัญญาณยกเลิกการเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 กดดันให้นักลงทุนทั่วโลกต่างเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับสูงขึ้นทั่วโลก โดยวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.32% 1.33% 1.36% 1.46% 1.57% และ 1.69% ตามลำดับ

ติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของยูโรโซนและเยอรมนี

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,670 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 786 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 1,754 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 130 ล้านบาท