posttoday

ผลของมาตรการชิมช้อปใช้ ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค

05 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

มาตรการส่งเสริมการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้” รับเงินผ่าน “เป๋าตัง” (G-Wallet) เป็นหนึ่งในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค ที่รัฐบาลประกาศในเดือน สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวจากพิษสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ เช่น มาตรการเติมเงินบัตรประชารัฐ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรประสบภัยแล้ง มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และมาตรการสนับสนุน SMEs

เมื่อเทียบกับมาตรการอื่น ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น มาตรการชิมช้อปใช้ เป็นนโยบายที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ทั้งโดยสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชนทั่วไป ดังนั้น หากจะประเมินผลสำเร็จของโครงการ มาตรการชิมช้อปใช้ ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการตลาดอย่างมาก แม้ว่าในด้านผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคของมาตรการชิมช้อปใช้ยังถูกตั้งคำถามอยู่ว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด?

ในแง่วัตถุประสงค์ของมาตรการชิมช้อปใช้ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ตามที่มีการประกาศโครงการในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม จากการออกแบบกลไกในจ่ายเงิน ทำให้มาตรการนี้ถูกกล่าวถึงในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้ระบบการชำระเงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ให้กระจายถึงกลุ่มคนจำนวนมากขึ้น โดยใช้เงินโอนจากรัฐบาลในการสร้างแรงจูงใจ นอกจากนี้ ยังถูกล่าวถึงในด้านของการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวเนื่องจากการมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้เงินโอนจากภาครัฐ (กระเป๋าที่ 1,2,3) ในต่างจังหวัด (นอกที่อยู่ภูมิลำเนาในบัตรประชาชน) ดังนั้น โดยการออกแบบ มาตรการชิมช้อปใช้ จึงเสมือนถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนอง 3 วัตถุประสงค์ข้างต้น ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบันผลสำเร็จและอุปสรรคของ 3 วัตถุประสงค์ข้างต้น ที่พอจะประเมินได้ ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย

หนึ่ง ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลโดยให้มีการลงทะเบียนแอปพลิเคชัน และรับเงินผ่าน G-wallet แทนที่จะใช้ช่องทางการรับเงินอื่นๆ ที่เคยใช้ในอดีต เช่น ประกันสังคม การลดหย่อนภาษีฯผ่านสรรพากร ซึ่งจากข้อมูลในเฟสแรก ยอดการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีการเข้าถึงระบบออนไลน์ทั้งโดย 4G, broadband, Wifi ที่ดีเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ดังนั้น การตั้งความหวังให้มีการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และระบบการชำระเงินออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้นยังคงไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้การจำกัดจำนวนการลงทะเบียนในแต่วัน และใช้ระบบมาก่อนได้ก่อน ทำให้เกิดคอขวดในระบบ ซึ่งไม่สามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันจำนวนมากได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งความยุ่งยากและปัญหาในการลงทะเบียนเหล่านี้ ไม่ได้จูงใจให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับการชำระเงินออนไลน์ หันมาใช้งานได้ ดังนั้น หากจะต้องการตอบสนองวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการใช้ระบบชำระเงินออนไลน์ ไม่ควรจะมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ และอาจลดเงินอุดหนุนจากภาครัฐต่อคนลง เพื่อให้สามารถลงทะเบียนได้ครบทุกคน และไม่จำเป็นต้องแย่งกันลงในช่วงเริ่มเปิดซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาระบบล่ม ตามที่ถูกบ่นถึงในปัจจุบัน

สอง ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลของมาตรการในเฟสแรกแสดงถึงการใช้จ่ายในจังหวัดที่ใกล้เคียงกับจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาค ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการจ่ายเงินตามปกติที่ไม่ใช่การจ่ายเงินระหว่างการท่องเที่ยว นอกจากนี้ จำนวนเงินที่ได้ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลักในการท่องเที่ยว ได้แก่ ที่พัก พาหนะเดินทาง ทำให้ผลต่อการจูงใจในคนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อใช้สิทธิ์ตามมาตรากรนี้มีอยู่จำกัด หากจะเทียบกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการในการจัดทำมาตรการส่งเสริมการขายหรือ การให้เงินเพื่อพัฒนาอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว หรือการใช้ใบเสร็จจากการท่องเที่ยวมาใช้ลดหย่อนภาษี น่าส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวได้เยอะกว่ามาตรการชิมช้อปใช้ นอกจากนี้ หากจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อหวังผลต่อเศรษฐกิจมหภาคแล้ว มาตรการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจมหภาคสูงกว่ามาตรการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย

สาม ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค ที่กำลังชะลอตัวจากการหดตัวของการส่งออกจากผลของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างาสหรัฐฯ และจีน โดยพุ่งเป้าที่การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ แม้ว่าการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าแรกจะมีผู้เข้าร่วมโครงการและใช้จ่ายได้ครบตามจำนวนเงินโอน (1,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงิน 13,000 ล้านบาท) ผลต่อการกระตุ้น GDP ในปี 2562 จะมีน้อยมาก โดยจะมีผลอย่างมากที่สุดคือกระตุ้นให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ขึ้นกับว่าการใช้จ่ายนั้นไปทดแทนการใช้จ่ายที่จ่ายเป็นประจำอยู่ในสัดส่วนเท่าไร่

นอกจากนี้ ในส่วนของกระเป๋าที่สองการให้เงินคืนจากยอดใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และ 20 ตามขั้นบันได โดยหวังให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายคลึงกับมาตรการรถคันแรก ที่ใช้มาตรการคืนเงินในการซื้อรถคันแรก กระตุ้นให้คนนำเงินมาซื้อรถ พร้อม ๆ กันในปีนั้นจำนวนมากจนส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากข้อมูลในเฟสแรก การใช้จ่ายกระเป๋าที่สองนี้มีอยู่ไม่มาก ซึ่งสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากเงื่อนไขของการใช้จ่ายที่เป็นต่างจังหวัด ทำให้เกิดต้นทุนในการเดินทาง ทั้งค่ารถ รวมถึงค่าเสียเวลา ซึ่งลดประโยชน์จากการอุดหนุนของรัฐบาลลง นอกจากนี้ การจำกัดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ให้อยู่ในร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็ก รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ทำให้รายจ่าย ชิม ช้อป ดูจะเป็นการย้ายผู้จ่ายเงินจากประชาชน เป็นภาครัฐฯ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มส่วนเพิ่มเติมได้มากนัก หากตลอดทั้งโครงการ อัตราการใช้จ่ายเงินในกระเป๋าที่สองของผู้ร่วมมาตรการยังคงมีไม่มากนักเหมือนในเฟสแรก จะทำให้ผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมีไม่มาก ดังนั้น หากการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ไม่ควรจำกัดพื้นที่ใช้จ่ายเฉพาะในต่างจังหวัด แต่ควรให้สามารถใช้จ่ายในจังหวัดที่ตัวเองมีที่อยู่ ด้วยเพื่อลดต้นทุนในการเดินทางลงจูงใจให้คนใช้จ่ายมากขึ้น หรือการขยายขอบเขตสินค้าที่สามารถรับเงินอุดหนุนได้ ให้ครอบคลุมสินค้าคงทน ที่ไม่ได้ใช้จ่ายบ่อย ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร รถประเภทต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จะช่วยเพิ่มการบริโภคภาคเอกชนได้เยอะกว่าการจำกัดเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

กล่าวโดยสรุป จากการที่มาตรการชิมช้อปใช้ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองหลายวัตถุประสงค์พร้อมกันทำให้มีข้อจำกัดในการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น หาก รัฐบาลจะผลักดันโครงการนี้อย่างต่อเนื่องในแต่ละเฟสในอนาคต ควรมีการพิจารณาว่าวัตถุประสงค์ในแต่ละเฟสคืออะไร เพื่อออกแบบมาตรการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมีระสิทธิภาพมากขึ้นครับ