posttoday

ก่อการดี

05 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน

เรื่อง ก่อการดี

โดย ดร.สมชัย อมรธรรม

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ

ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย

..................................................................................................

“คุณกล้าดียังไง?” คำพูดที่ดุดันจากเด็กอายุ 16 ที่ชื่อ เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) อาจทำให้ผู้ใหญ่หลายคนสะดุ้งได้ไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย ในสังคมไทยเองจากเดิมที่เคยเห็นคนซื้อสินค้าแล้วใช้ถุงพลาสติกซ้อนกัน 2-3 ถุง มากลายเป็นกระแสการลดใช้ถุงพลาสติกเพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เหล่านี้ก็แสดงให้เห็นศักยภาพการทำความดีเพื่อสังคม-สิ่งแวดล้อมของคนไทยเหมือนกัน

ในด้านการลงทุน เราก็สามารถ “ก่อการดี” เพื่อสังคม-สิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน ผ่านการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investing) ซึ่งเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ผลสำรวจเมื่อช่วงต้นปีโดย Morgan Stanley เปิดเผยว่า 85% ของนักลงทุนบุคคลในสหรัฐฯ ให้ความสนใจใน “การลงทุนที่ยั่งยืน” (Sustainable Investing) ทว่าหากเจาะเฉพาะกลุ่ม Millennials (เกิดในช่วงปี 1981-1996) สัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 95% เลยทีเดียว

แต่เมื่ออยู่ในโลกการลงทุน คำถามสำคัญที่เกิดขึ้น คือ ผลตอบแทนของการลงทุนแบบ ESG จะเป็นอย่างไร? และอีกคำถามที่ควรจะถูกถามด้วยเช่นกัน คือ ความเสี่ยงจากการลงทุนมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าการลงทุนแบบทั่วไป?

สำหรับในด้านผลตอบแทน ในอดีตเคยมีความเชื่อว่าการลงทุนแบบ ESG นั้นจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำลง เนื่องจากบริษัทที่หันมาปฏิบัติตามแนว ESG จำเป็นต้องมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น หรือหากเราเน้นการลงทุนเพียงในกลุ่มบริษัทที่คำนึงถึง ESG อาจทำให้พอร์ตการลงทุนมีการจะกระจายตัวได้น้อยลง กลายเป็นการลงทุนที่กระจุกตัว (Focused) ให้พอร์ตการลงทุนอาจมีความเสี่ยงมากขึ้น

แต่กระนั้น นักลงทุนก็ยังให้ความสนใจกับแนวทาง ESG เนื่องจากจะได้ผลตอบแทนทางอ้อมที่ไม่เป็นตัวเงินแทน เช่น สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นส่งผลให้สุขภาพดีขึ้น หรือธรรมาภิบาลในสังคมที่ดีขึ้นทำให้ต้นทุนทางสังคมลดน้อยลง เป็นต้น

ในปัจจุบัน ผลการศึกษาเริ่มแสดงให้เห็นว่า การลงทุนแบบยั่งยืนไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกองทุนดังเดิม ดังที่ระบุในรายงาน Global Financial Stability Report ฉบับเดือน ต.ค. 2562

ดังนั้น หากผลตอบแทนทางตรงที่ได้จากการลงทุนแบบยั่งยืนกับแบบดั้งเดิมไม่แตกต่างกัน (อย่างมีนัยสำคัญ) ผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่เป็นตัวเงินแทนเหล่านั้น จึงเปรียบเสมือน “ของแถม” ที่ได้จากการลงทุนแบบ ESG

ในด้านความเสี่ยง ผลการศึกษาต่างๆ ออกมาระบุไปในทางเดียวกันว่า กองทุน ESG มีความเสี่ยงในการปรับตัวลงน้อยกว่า โดยผลการวิเคราะห์ 10,723 กองทุน จากข้อมูลของ Morningstar ในช่วงปี 2004-2018 โดย Morgan Stanley พบว่า กองทุนที่เน้นการลงทุนแบบ ESG มักปรับตัวลงน้อยกว่า โดยมี “ความเบี่ยงเบนขาลง” (Downside Deviation) น้อยกว่ากองทุนดั้งเดิม 20%

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่ากองทุน ESG จะไม่มีโอกาสขาดทุน หากตลาดอยู่ในช่วงขาลง กองทุนเหล่านี้ก็จะปรับตัวลงตามไปด้วย เป็นไปตามความเสี่ยงของตลาด (Market Risk หรือ Systematic Risk) แต่การปรับตัวลงของกองทุน ESG นั้นมักจะน้อยกว่ากองทุนดั้งเดิมเพราะช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะตัวได้ (Idiosyncratic Risk)

บริษัทฯ ที่ให้ความสนใจด้าน ESG ก็มีโอกาสน้อยลงที่จะมีข่าวลบเกิดขึ้น หรือถูกฟ้องร้อง และอาจจะช่วยลดต้นทุนแอบแฝงต่างๆ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของบริษัทด้อยลงไป และการรักษามูลค่าบริษัทให้คงนี่เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างมูลค่าของบริษัทในระยะยาว ช่วยทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นชดเชยต้นทุนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทในการดำเนินการตามแนวทาง ESG

ในช่วงที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทย ได้มีการออกกองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี (KT-ESG) ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารทุนแบบ Passive โดยมีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารแห่งทุนเพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ (Thaipat ESG Index (TR)) ซึ่งจะคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับนักลงทุนที่ไม่ได้มองเพียงแต่หลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีผลประกอบการดีเท่านั้น แต่สนใจที่จะมา “ก่อการดี” ด้วยกันครับ