posttoday

ค่าเงินบาทแข็งค่า? รอผลการประชุมของ กนง.

04 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.00-30.40 จุดสนใจสำคัญของตลาดคาดว่าจะอยู่มติที่ประชุมนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ซึ่งตลาดคาดหวังการลดดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ภายในปีนี้ และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เริ่มมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธนี้

อย่างไรก็ตาม หาก กนง. ไม่ได้มีมติตามที่ตลาดคาดการณ์อาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าต่อได้ ในสัปดาห์เดียวกัน สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และออสเตรเลียจะมีการประชุมนโยบายการเงินเช่นกันแต่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางเหล่านี้จะคงนโยบายการเงินที่ระดับปัจจุบัน

นอกจากนี้ พัฒนาการของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะเป็นปัจจัยที่ตลาดให้ความสำคัญต่อ เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าข้อตกลงระยะที่ 1 นั้นเสร็จสิ้นไปกว่า 60% แล้วและจะประกาศสถานที่ลงนามข้อตกลงเร็วๆ นี้ ขณะที่ตลาดเริ่มกังวลความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ ดังนั้น หากมีความคืบหน้าของข้อตกลงการค้าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ได้

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นมากมาอยู่ที่ระดับ 30.209 และเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ จากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ลดลงตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง ประกอบกับการเพิ่มความการคาดการณ์ของตลาดต่อการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผลการประชุมนโยบายการเงินสหรัฐฯ โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อหลังการประชุมนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps เป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ มาอยู่ที่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แม้ว่านายโพเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณหยุดการลดดอกเบี้ยในระยะต่อไปก็ตาม ด้านประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนนั้นยังส่งผลให้นักลงทุนกังวลต่อความเสี่ยงหลังจากเจ้าหน้าที่จีนลังเลต่อการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะยาวกับสหรัฐฯ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายเตรียมลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นเร็วๆ นี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.170 (เวลา 17.00)

ประเด็นสำคัญในตลาดตราสารหนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาคือการประชุมธนาคารกลางของสหรัฐฯ ที่มีมติ 8 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.50 - 1.75% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้

โดยสาระสำคัญในถ้อยแถลงได้ตัดเนื้อความสำคัญที่กล่าวว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจออกไป ทำให้ตลาดตีความได้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ อาจจะถึงจุดสมดุลเพียงพอที่จะป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ และการตัดสินใจต่ออัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า จะพิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้เป็นหลัก ทำให้ตลาดการเงินคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งสอดคล้องกับตลาดฟิวเจอร์ที่ให้โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้อยู่ที่ระดับ 21% (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 62 เวลา 16.00 น.) ลดลงจากระดับ 45% เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่ประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนนั้นยังไม่มีความชัดเจนถึงช่วงเวลาที่จะลงนามในข้อตกลงการค้าในขั้นแรก (Phase 1) ภายหลังจากที่ผู้นำชิลีประกาศยกเลิกการประชุมเอเปคในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ประกอบกับประเด็นที่เจ้าหน้าที่จีนได้ออกมาให้ความเห็นว่าจีนยังมีความลังเลต่อการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะยาวกับสหรัฐฯ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในช่วงท้ายของสัปดาห์ จึงเห็นแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัว โดยในช่วงต้นสัปดาห์อัตราผลตอบแทนปรับสูงขึ้นสืบเนื่องจากบรรยากาศที่นักลงทุนคลายความกังวลจากเรื่องข้อตกลงการค้าในขั้นแรก อย่าไงก็ตามนักลงทุนเริ่มกลับมาซื้อตราสารหนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์จากความกังวลต่อประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่งผลให้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.43% 1.40% 1.40% 1.41% 1.47% และ 1.53% ตามลำดับ

ค่าเงินบาทแข็งค่า? รอผลการประชุมของ กนง.

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 2,604 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,150 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,759 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 5 ล้านบาท