posttoday

LTF ปีสุดท้ายทำไงดี ควรลงทุน RMF หรือยัง?

04 พฤศจิกายน 2562

คอลัมน์ Healthy Wealth

คอลัมน์ Healthy Wealth

เรื่อง LTF ปีสุดท้ายทำไงดี ควรลงทุน RMF หรือยัง?

โดย เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์

บลจ.เอ็มเอฟซี

..........................................................................

เข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี มนุษย์เงินเดือนมักจะหาจังหวะเข้าลงทุนใน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund) หรือกองทุน LTF เพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี โดยปี 2562 นี้เป็นปีสุดท้ายที่จะครบกำหนดการขยายสิทธิ์ (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562) การใช้การลงทุนกองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมิน หากลงทุนในกองทุน LTF หรือกล่าวได้ว่านักลงทุนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนจะได้ประโยชน์จากการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเช่นนี้เป็นปีสุดท้าย

กองทุน LTF เน้นลงทุนในหุ้นสามัญที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยจะต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน และซื้อได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท นักลงทุนส่วนใหญ่จึงนิยมลงทุนในกองทุน LTF เพราะระยะเวลาการถือครองไม่นานเกินไป อีกทั้งไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

หลังปี 2562 กองทุน LTF ยังคงมีการบริหารต่อเนื่อง และนักลงทุนสามารถลงทุนต่อได้เหมือนกองทุนรวมหุ้นทั่วไป ซึ่งนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาในกรณีที่กองทุนมีกำไร และได้รับเงินปันผลตามนโยบายของกองทุนนั้นๆ

ในโอกาสสุดท้ายที่จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการลงทุนใน LTF นักลงทุนจึงควรที่จะใช้สิทธิ์ให้เต็มที่ และไม่ควรซื้อกองทุน LTF ครั้งเดียวในเดือนธันวาคม แต่ควรทยอยซื้อเพื่อเฉลี่ยต้นทุน เนื่องจากสถิติของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าในปีปกติที่ไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ราคาหุ้นมักจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี

ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง ควรเลือกลงทุน LTF เพื่อรับผลตอบแทนที่ดีช่วงระยะเวลาที่ถือครอง นอกเหนือจากได้รับการลดหย่อนภาษี

กองทุน LTF มีหลายประเภทให้เลือกลงทุน ทั้งแบบ Passive คือ การบริหารให้อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงใกล้เคียงดัชนีอ้างอิง เช่น กองทุน LTF ที่ track ดัชนี SET50

และการลงทุนแบบ Active คือ การบริหารให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุน เช่น ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นเติบโต หุ้นปันผลสูง หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ หรือ หุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เป็นต้น

เราควรมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกกองทุน LTF เช่น ประเภทของหุ้นที่ลงทุน แนวทางหรือวิธีการบริหารกองทุน ผลการดำเนินงานในอดีต นโยบายการจ่ายปันผลของกกองทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ หากสภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ควรพิจารณาใช้สิทธิ์สับเปลี่ยนกองทุนให้สอดคล้องเหมาะสม เช่น ในช่วงที่ตลาดขาขึ้นนักลงทุนสามารถสับเปลี่ยนมาลงทุนในกลุ่มหุ้นเติบโต เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน หากภาวะตลาดขาลงมีความผันผวนสูง นักลงทุนสามารถกลับมาลงทุนในกองทุน Passive หรือ กองทุนหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ เป็นต้น

แม้ว่าสิทธิประโยชน์ด้านภาษีของกองทุน LTF จะสิ้นสุดลง แต่การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) หรือ RMF ยังคงได้รับสิทธิ์ทางภาษีต่อไป

การลงทุนในกองทุน RMF อาจมีระยะเวลายาวนานกว่า LTF เนื่องจากจะสามารถขายคืนกองทุนได้เมื่อผู้ลงทุนมีอายุครบ 55 ปีบริบรูณ์ และต้องถือมาอย่างน้อย 5 ปี อีกทั้งยังต้องลงทุนในกองทุน RMF ต่อเนื่องอย่างน้อย 3% ของรายได้ที่เสียภาษี หรือ 5,000 บาทแล้วแต่ว่าจำนวนใดต่ำกว่า เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการออมเงินระยะยาวไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณไม่ควรมองข้ามกองทุน RMF เพราะการออมเงินและลงทุนระยะยาว ที่มีนโยบายการลงทุนหลากหลายประเภทให้เลือก ได้แก่ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน กองทุนรวมผสม กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นต้น ดังนั้นนักลงทุนสามารถเลือกลงทุน หรือสับเปลี่ยนกองทุน RMF ในช่วงเวลาที่ถือครองได้ เพื่อจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจและตามความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้

อย่างไรก็ดี การเลือกลงทุนในกองทุน LTF และ RMF ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายการลงทุนหลัก โดยต้องศึกษารายละเอียดการลงทุนให้เข้าใจ และเลือกลงทุนในกองทุนที่เหมาะกับตนเอง โดยผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะกองทุน เงื่อนไขการลงทุน ความเสี่ยง และศึกษาข้อมูลภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน

นอกจากนี้ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้ยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต และอย่าลืมว่าอัตราเงินปันผลของกองทุน LTF จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือสามารถเลือกให้ไม่หัก ณ ที่จ่ายก็ได้ แต่จะต้องนำเงินปันผลไปรวมเป็นรายได้ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้สิ้นปี