posttoday

ลดหย่อนภาษีกับกองทุน RMF ด้วยหลักการง่ายๆ “55 – 5 – 5”

31 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง ลดหย่อนภาษีกับกองทุน RMF ด้วยหลักการง่ายๆ “55 – 5 – 5”

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPT™

ทีมงาน BF Knowledge Center กองทุนบัวหลวง
.......................................................................

ปัจจุบันการลดหย่อนภาษีสามารถทำได้ผ่านเครื่องมือการลงทุนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนประกันชีวิต การลงทุนซื้อบ้าน การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แต่ยังมีนักลงทุนจำนวนมากที่ไม่เลือกลงทุนในกองทุน RMF เพราะเงื่อนไขการลงทุนที่ต้องซื้อต่อเนื่องและถือครองนาน จนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์

อีกมุมหนึ่ง อยากจะแนะนำนักลงทุนว่า เราทุกคนล้วนมีเป้าหมายในชีวิตหลายอย่าง แต่เป้าหมายสำคัญที่ทุกคนต้องมีคือ “เกษียณสุข” สุขในที่นี้ ก็คือ มีเงินพอกิน พอใช้ พอดูแลสุขภาพได้ตลอดจนสิ้นอายุขัย

ลองคิดภาพดูว่า เราเกษียณอายุ ตอน 60 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ยปัจจุบัน ประมาณ 80 ปี เท่ากับว่า เราต้องเตรียมเงินไว้ให้พอสำหรับ 20 ปี เป้าหมายนี้จึงเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ใช้เงินมาก จำเป็นต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ และมีวินัยในการออม หรือลงทุนที่เข้มข้น

การลงทุนในกองทุน RMF จึงตอบโจทย์ได้ชัดเจนที่สุด เพราะได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน คือ เงินคืนภาษี (เมื่อลงทุนตามเงื่อนไข) และได้ประโยชน์ในอนาคต คือ โอกาสในการรับผลตอบแทนจากการลงทุน

กองทุน RMF น่าสนใจตรงที่มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย สามารถนำมาจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมตามความต้องการ ปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับช่วงเวลาได้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายเกษียณของตัวเองให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สิทธิในการซื้อ ขายและถือครองนั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไข (ศึกษาได้จากคู่มือภาษี) โดยขอเพิ่มเติมคำอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ด้วยหลักการ “55 – 5 – 5”

55 หมายถึง เมื่อเริ่มต้นลงทุนในกองทุน RMF แล้วจะต้องลงทุนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ ความจริง ก็คือ ลงทุนแบบปีเว้นปีได้ แต่เว้น 2 ปีติดต่อกันไม่ได้ จะทำให้ผิดเงื่อนไข ในส่วนนี้หากไม่อยากผิดเงื่อนไข ก็แนะนำให้ลงทุนด้วยวิธี DCA

โดยขั้นต่ำในการลงทุนของ RMF คือ 3% ของเงินได้พึงประเมินหรือ 5,000 บาท “ต่อปี” ดังนั้น ลงทุนด้วยวิธี DCA เดือนละ 500 บาท ผ่านไป 1 ปีจะมีเงินลงทุนรวม 6,000 บาท ซึ่งเกินกว่าขั้นต่ำที่กำหนด อีกทั้ง ปีไหนอยากจะลงทุนเพิ่ม ก็ลงทุนได้ โดยเงินลงทุนสูงสุดสำหรับกองทุน RMF คือ 15% ของเงินได้พึงประเมินสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และประกันแบบบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี

5 ต่อมา คือ ลงทุนอย่างน้อย 5 ปีลงทุน คำว่า ปีลงทุน คือ (การลงทุนในปีนั้นๆ จะลงทุนครั้งเดียวหรือหลายครั้งในปีนั้น ก็นับว่า เป็น 1 ปีลงทุน) ในกรณีนี้ เน้นย้ำสำหรับผู้ลงทุนที่เริ่มลงทุนตอนอายุมากแล้ว เช่น เริ่มต้นลงทุน RMF ครั้งแรกตอนปี 60 ผู้ลงทุนอายุ 53 ปี จากนั้น ซื้อต่อเนื่องไปในปี 61 ปี 62 ผู้ลงทุนอายุ 54 ปี และ 55 ปีตามลำดับ แบบนี้คือ ถูกเงื่อนไขแรก คือ ลงทุนจนตัวเองอายุ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ว่าผิดเงื่อนไข 5 ปีลงทุน เพราะลงทุนแค่ปี 60, 61 และ 62 คือ 3 ปีลงทุนเท่านั้น ดังนั้น เพื่อความถูกต้องจะต้องลงทุนต่อในปี 63 และ 64 เพื่อให้ครบ 5 ปีลงทุน

5 สุดท้าย คือ 5 ปีถือครองนับแบบวันชนวัน โดยนับจากการลงทุนใน RMF ครั้งแรก เช่น ซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกวันที่ 2 ก.ย.62 เมื่อครบวันที่ 2 ก.ย.63 ก็นับเป็นปีถือครองที่ 1 เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ วันแรกที่ซื้อให้นับเสมือนเป็นวันเกิด วันนี้ เดือนนี้ ในปีหน้าก็นับเป็น 1 ขวบ

อ้อ! ปีไหนไม่ได้ลงทุนก็ไม่นับเป็นปีลงทุนและไม่นับว่า เป็นปีถือครองเช่นกัน เปรียบเสมือนวันเกิด แต่ลืมซื้อเค้กมาแฮปปี้เบิร์ธเดย์นั่นเอง