posttoday

พลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากสงครามการค้า

28 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน

เรื่อง พลิกวิกฤตเป็นโอกาสจากสงครามการค้า

โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์

.................................................................

ในยุคปัจจุบันที่ตลาดค่อนข้างมีความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก สำหรับความผันผวนจากภายในประเทศยังไม่น่ากังวล เพราะมีกระบวนการที่ผ่านไปได้ตามปกติซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน

แต่สำหรับความผันผวนจากภายนอก เช่น เรื่องของเงื่อนเวลาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2563  เรื่องของสภาวะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเข้าสู่สภาวะถดถอยหรือไม่ หรือเรื่องของ “สงครามการค้า” ที่ยืดเยื้อที่ส่งผลกระทบต่อใครหลายคนทั้งทางตรงและทางอ้อม มากบ้าง น้อยมากแตกต่างกันไป

โดยที่มาของสงครามการค้าเกิดจาก นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2559 หลังจากได้ตำแหน่งแล้ว ทรัมป์ได้ดำเนินนโนบายต่างๆ ตามที่เคยได้ประกาศในช่วงหาเสียงไว้และหนึ่งในนั้นก็คือ นโยบายทางการค้า ซึ่งสิ่งที่ทรัมป์เรียกร้องจากประเทศคู่ค้า คือ “การค้าที่เป็นธรรม” ซึ่งวิธีการที่สหรัฐฯ นำมาใช้ คือ การเข้าไปดูตัวเลขนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ พบว่ามีหลายประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น กลุ่มประเทศยุโรป แคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยจีนถือเป็นประเทศที่เกินดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด

โดยข้อมูล ณ ปี 2561 สหรัฐฯ นำสินค้าเข้าจากจีนเป็นมูลค่ากว่า 540 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียงแค่ 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะกล่าวได้ว่าสหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนอยู่กว่า 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้นสหรัฐฯ จึงต้องทำทุกทางเพื่อลดการขาดดุลการค้าและวิธีการที่ทำได้ก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะประเทศจีน และสหรัฐฯ ยังต้องการให้บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ไปตั้งฐานการผลิตในจีนเนื่องจากค่าแรงงานที่ต่ำกว่าหันกลับมาตั้งฐานการผลิตที่สหรัฐฯ โดยอ้างว่าจีนได้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ไปตั้งฐานการผลิตที่จีน เพราะจีนบีบบังคับให้บริษัทที่ไปลงทุนในประเทศตนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย

สงครามการค้าเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 จนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยสงครามการค้าลุกลามจากการตั้งกำแพงภาษีบนสินค้าจีน สู่สงครามสินค้าเทคโนโลยี (tech war) และล่าสุดสู่สงครามค่าเงิน (currency war) ทั้งสองประเทศก็ผลัดกันประกาศขึ้นภาษีตอบโต้กันแบบหมัดต่อหมัดไปมาบนสินค้านำเข้าที่เหลือเกือบทั้งหมด

ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 มีข้อโต้แย้งกัน ผลกระทบที่ตามมาไม่ได้ส่งผลเสียเพียงแค่ 2 ประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (supply chain) ทั้งหมดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทย ความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวและนักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ได้ลุกลามต่อเนื่องไปยังตลาดการเงินและตลาดทุน

โดยนักลงทุนบางส่วนเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่น หุ้น และย้ายมาลงทุนในสิ้นทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าและยังคงให้ผลตอบแทนที่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง เช่น ตราสารหนี้ ซึ่งในปัจจุบันนักลงทุนต่างก็มีความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระดับความเสี่ยงไม่สูงมาก เน้นเรื่องกระแสเงินสดรับ การลงทุนในตราสารหนี้จึงเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในสภาวะ

แต่สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ ยังคงเป็นความคืบหน้าในการเจรจาระหว่าง 2 มหาอำนาจ โดยตลาดตราสารหนี้จะยังคงได้รับแรงหนุนจากเงินลงทุนในกรณีที่สงครามการค้ายังไม่สามารถหาจุดตรงกลางของการเจรจาการค้าได้

หรือกรณีเลวร้ายที่สุด คือ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไม่ได้และสถานการณ์รุนแรงขึ้นโดยต่างฝ่ายต่างตอบโต้กัน

อย่างไรก็ดี หากทั้ง 2 ฝ่ายสามารถหาข้อสรุปกันได้จะเป็นกรณีที่ดีที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและเป็นสัญญาณให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังตราสารทุนเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้มีแรงขายในตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น นักลงทุนควรพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง และติดตามสถานการณ์เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของท่านนะครับ