posttoday

กองทุน Fixed Term รูปแบบใหม่ที่ใครๆต้องเหลียวมอง “Fixed Maturity Product”

24 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กฤษณ์ ประพฤทธิ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนกลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กฤษณ์ ประพฤทธิ์วงศ์ ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนกลุ่มลูกค้าบุคคลพิเศษอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

สถาณการณ์ปัจจุบันที่ดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนเงินฝากและกองทุนตราสารหนี้ต่ำลงไปด้วย นักลงทุนจึงเริ่มมองหาการลงทุนประเภทอื่นๆที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น จะเห็นได้จากในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจะมีกองทุนและหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อภาครัฐมีการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ที่มีระยะยาว ทำให้นักลงทุนต้องคิดใหม่

จุดเด่นของกองทุน Fixed Maturity Product คือ มีผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในกองทุนที่ Fixed Term เนื่องจากกองทุนมีการเพิ่มตราสารที่อยู่ต่ำกว่าระดับการลงทุน และอายุเฉลี่ยของตราสารก็มีระยะเวลาการลงทุนที่นานขึ้นด้วย โดยมากจะมีอายุมากกว่า 2 ปี ดังนั้นกองทุนประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนจะพยายามควบคุมความเสี่ยงให้เหมาะสมกับผลตอบแทน เช่น อาจกำหนดน้ำหนักของตราสารที่มีความเสี่ยงสูงให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมและน้อยกว่าตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ กองทุนยังมีความยืดหยุ่นในการลงทุนให้สามารถกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหลายอุตสาหกรรม การลงทุนในหลายบริษัท โดยมากมักจะลงทุนตั้งแต่ 10 บริษัทขึ้นไป จุดเด่นอีกหนึ่งเรื่อง คือ กองทุนประเภทนี้ ยังได้ประโยชน์จากการได้รับยกเว้นภาษีตราสารหนี้เนื่องจากเป็นกองทุนประเภท Feeder Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่นำเงินผู้ลงทุนไปลงทุนกองทุนหลักเพียงกองเดียว ซึ่งกรณีนี้เป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนสนใจเป็นพิเศษ ในการตัดสินใจลงทุนกองทุนประเภทนี้

กองทุน Fixed Term รูปแบบใหม่ที่ใครๆต้องเหลียวมอง “Fixed Maturity Product”

ข้อควรระวังของการลงุทนประเภทนี้

1. การลงทุนใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ปี ทำให้ผู้ลงทุนจะต้องวางเป้าหมายการลงทุนนี้อย่างชัดเจนว่าเป็นระยะยาวสภาพคล่องจะไม่ใช่ปัญหา

2. ตราสารมีการลงทุนมากกว่า 1 ปีทำให้บางช่วงราคาจะมีการขึ้นลงจากความผันผวนของดอกเบี้ยในตลาด ก่อนกองทุนจะครบกำหนด

3. ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเนื่องจากกองทุนลงทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศ

4. การลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้นจากการเพิ่มผลตอบแทนโดยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยง

ทำความเข้าใจเรื่อง อันดับความน่าเชื่อถือ ก่อนตัดสินใจลงทุน

โดยทั่วไปแล้วการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีด้วยกัน 2 ประเภท

ประเภทแรก คือ อันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศ (Domestic Credit Rating) เช่น ในประเทศไทยจะมีบริษัทที่ให้บริการออกอันดับความน่าเชื่อถือ 2 ที่คือ บริษัท fitch และ TRIS เรทติ้ง โดยอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดอยู่ที่ AAA ซึ่งจะสะท้อนความเสี่ยงต่ำสุด

ประเภทที่สอง อันดับความน่าเชื่อถือสากล (International Credit Rating) จะถูกจัดอันดับโดยบริษัทที่ให้บริการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ เช่น S&P, Moody’s ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือและมีความเป็นสากล โดยอันดับความน่าเชื่อถือจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญๆ คือ ตราสารที่สามารถลงทุนได้ และ ตราสารที่มีอันดับต่ำกว่าการลงทุน อันดับที่อยู่ในช่วง AAA ถึง BBB- เป็นช่วงตราสารที่อยู่ในระดับลงทุนได้

สิ่งที่น่าสนใจคือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารที่ออกโดยบริษัทรับจัดอันดับจากต่างประเทศจะให้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารได้ไม่เกิน อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

หากผู้ลงทุนได้ทำความเข้าใจถึงลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนก็จะทำให้ผู้ลงทุนมีความสุขกับการเห็นผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมทางการลงทุนเกิดขึ้นพร้อมโอกาสการลงทุนเสมอ ขอเพียงเราศึกษาข้อมูลเพียงพอก็สามารถสร้างความสุขในการลงทุนไปพร้อมผลตอบแทนที่ดีและความเสี่ยงที่เหมาะสม ขอให้โชคดีกับการลงทุนครับ