posttoday

“แรงงานข้ามชาติ” กับการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

22 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

ประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนถือเป็นกลุ่มประเทศหนึ่งที่เป็นกรณีศึกษาสำหรับแรงงานข้ามชาติได้เป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศในกลุ่มเหล่านี้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในภูมิภาค (Intra-Regional Migration) ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังเป็นการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (South-South Migration) ด้วยกันเอง ซึ่งแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ที่มักเป็นการเคลื่อนย้ายจากประเทศที่ด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (North-South Migration) ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนนี้ (ทั้งในกรณีของทั้งประเทศผู้ส่งแรงงานและประเทศผู้รับแรงงาน) จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานนี้ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้อย่างไร และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของทั้งประเทศผู้ส่งแรงงานและสำหรับประเทศผู้รับแรงงานในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร

บทความทางวิชาการของผมชิ้นหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติชิ้นล่าของผม ที่มีชื่อว่า South-South Labor Migration and Sustainable Development: Implications for Southeast Asian Countries โดยตีพิมพ์ในวารสาร Sustainable Development ได้อธิบายถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South Migration) ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UN's Sustainable Development Goals) โดยใช้ประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นกรณีศึกษา

ในกรณีของประเทศผู้รับแรงงาน (เช่นประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย) แรงงานข้ามชาติส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศผู้รับแรงงานในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการจ้างแรงงานข้ามชาติจะส่งผลบวกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (Labor-Constrained Economies) โดยการจ้างแรงงานข้ามชาติจะช่วยให้ภาคการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าและบริการออกมาสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง (Smoothing Production) อันส่งผลทางบวกต่อกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคครัวเรือน ด้วยสาเหตุดังกล่าว แรงงานข้ามชาติจึงส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาตินั้น

นอกจากนั้น แรงงานข้ามชาติยังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มหรือลดของผลิตภาพแรงงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมในประเทศผู้รับแรงงาน โดยในการที่จะส่งผลทางบวกหรือทางลบก็ขึ้นอยู่กับทักษะของแรงงานข้ามชาติโดยถ้าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามามีทักษะสูงก็จะช่วยส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยและสนับสนุนให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้ แต่ทว่า ถ้าประเทศผู้รับแรงงานพึ่งพาเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะต่ำแล้ว ก็อาจส่งผลต่อการบั่นทอนผลิตภาพโดยรวมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลลัพธ์นี้จะสอดคล้องกับโอกาสของการสร้างนวัตกรรม โดยการจ้างแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะสูงจะสนับสนุนให้องค์กรเกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา ในขณะที่องค์กรที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะต่ำจะส่งผลต่อการบั่นทอนโอกาสในการสร้างนวัตกรรม

“แรงงานข้ามชาติ” กับการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้นถึงแม้ว่าการจ้างแรงงานข้ามชาติจะสร้างโอกาสในการทำงานของแรงงานเหล่านั้นก็ตาม แต่การจ้างแรงงานข้ามชาติที่ส่วนใหญ่จะมีทักษะต่ำในกลุ่มประเทศอาเซียนอาจส่งผลเสียต่อแรงงานในประเทศที่มีทักษะต่ำ อันส่งผลทำให้เป้าหมายในการให้เกิดการจ้างงานอย่างถ้วนหน้าไม่สามารถบรรลุได้ นอกจากนี้ การจ้างแรงงานข้ามชาติยังกระทบต่อเป้าหมายที่ 10 อันได้แก่ ประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานในประเทศที่มีทักษะต่ำที่จะต้องถูกแรงงานข้ามชาติแย่งงานกับแรงงานในประเทศที่มีทักษะสูงที่จะได้ประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติดังกล่าว

ประเทศที่รับแรงงานข้ามชาติยังต้องเผชิญความท้าทายในส่วนของเป้าหมายที่ 9 ซึ่งได้แก่การสร้างนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยการจ้างแรงงานที่มีทักษะต่ำยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Labor-Stalling Technology ที่อธิบายว่าแรงงานข้ามชาติอาจทำให้ความสามารถในการลงทุนในนวัตกรรมของภาคธุรกิจลดลง ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จำเป็นต้องรีบแก้ไข

นอกจากประเด็นทางด้านเศรษฐกิจแล้ว แรงงานข้ามชาติยังส่งผลกระทบต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน (เป้าหมายที่ 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์ที่ยั่งยืน) โดยการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากจะมาอยู่อาศัยในเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท อันส่งผลต่อความแออัดของเมือง โดยเฉพาะในเขตโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นที่มีเกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ถ้ามองในมิติของความเป็นธรรมในการจ้างงาน การจ้างแรงงานข้ามชาติยังมีประเด็นในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชน (เป้าหมายที่ 16) ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในการจ้างแรงงานกลุ่มดังกล่าว

ในกรณีของประเทศผู้ส่งออกแรงงาน (เช่นประเทศเมียนมา ประเทศ สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา) พบว่า แรงงานข้ามชาติส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในประเทศผู้ส่งออกแรงงานในหลากหลายมิติ โดยผลจากการศึกษาพบว่า เงินส่งกลับจากแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มรายได้ เพิ่มระดับการบริโภค และลดความยากจนให้กับครอบครัวของแรงงานข้ามชาตินั้น โดยเฉพาะเมื่อครอบครัวของแรงงานข้ามชาติมีฐานะยากจน ซึ่งผลกระทบนี้จะสามารถอธิบายได้ว่าประเทศผู้ส่งออกแรงงานสามารถตอบโจทย์ในเป้าหมายที่ 1 ในด้านการขจัดความยากจน และเป้าหมายที่ 2 ในด้านการขจัดความหิวโหยและโภชนาการที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น โดยถ้าแรงงานข้ามชาติได้มีการอพยพไปอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานานพอสมควรซึ่งครอบครัวของแรงงานข้ามชาติได้หลุดพ้นจากความยากจนแล้ว เงินที่ส่งกลับมาจะไม่มีนัยสำคัญต่อการสร้างรายได้มากเท่าที่ควร

ในด้านการพัฒนาในระยะยาว งานศึกษาส่วนหนึ่งพยายามศึกษาผลกระทบของเงินส่งกลับกับโอกาสในการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งผลที่พบในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ยังไม่ได้ผลสรุปที่แน่ชัดเนื่องจากขึ้นอยู่กับว่าเงินส่งกลับนั้นถูกส่งมากน้อยเพียงใด และเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนและเหลือเก็บสำหรับส่งลูกหลานเข้าเรียนหรือไม่ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความพร้อมทางด้านคุณภาพของโรงเรียนในพื้นที่นั้นๆ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี ถ้าผู้กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการที่ดี การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการบรรลุในเป้าหมายที่ 4 ในเรื่องการสนับสนุนให้แรงงานได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในการกำหนดนโยบายสำหรับประเทศผู้ส่งแรงงานข้ามชาติควรให้ความสำคัญกับกระบวนการในการบริหารเงินส่งกลับของแรงงานข้ามชาติเนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นการโอนเงินกลับเข้าประเทศต้นทางจึงจำเป็นต้องพึ่งพาตัวแทนนายหน้าซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและค่าธรรมเนียมสูงกว่าการโอนผ่านช่องทางธนาคาร อย่างไรก็ดี การพัฒนาช่องทางในการส่งเงินกลับของแรงงานข้ามชาติ ต้องเริ่มตั้งแต่การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศต้นทางและประเทศปลายทางเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่กระบวนการที่ถูกกฎหมายเสียก่อน

ดังนั้น จำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งประเทศผู้ส่งแรงงานข้ามชาติและประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติต้องมีการประสานงานเชิงนโยบาย (Harmonizing Migration Policies) เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติจะส่งผลบวกต่อการพัฒนาทั้งกับประเทศผู้ส่งแรงงานและประเทศผู้รับแรงงาน นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีหน่วยงานเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจากเดิมที่มีการบริหารจัดการที่ซับซ้อนในหลายหน่วยงาน

*รายละเอียดของบทความดังกล่าวสามารถอ่านได้จาก https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1002/sd.1876