posttoday

เฟดอาจจุดชนวนให้ตลาดปรับฐานอีกครั้ง

21 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ Global Investment Advisory

คอลัมน์ Global Investment Advisory

เรื่อง เฟดอาจลดดอกเบี้ยไม่มากเท่าที่คาด อาจจุดชนวนให้ตลาดปรับฐานอีกครั้ง

บทความโดย คมศร ประกอบผล

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

...............................................................................................

ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Federal Funds Rate) ลง 0.25 % เป็น 1.75-2.00% ตามที่ตลาดคาด ซึ่งนับเป็นการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อเดือน ก.ค.

ถึงแม้เฟดจะลดดอกเบี้ยลงตามคาด แต่ประธานเฟด นาย Jerome Powell ยังย้ำว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนนโยบายในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-cycle Adjustment) และเฟดยังไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากคาดการณ์ดอกเบี้ยของคณะกรรมการเฟด (FOMC Median Dot Plot) ที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน (1.75-2.00%) ไปจนถึงสิ้นปี 2020

 

แผนภาพที่ 1: ความคาดหวังว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

 

เฟดอาจจุดชนวนให้ตลาดปรับฐานอีกครั้ง ที่มา : บลูมเบิร์ก , ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไตรมาส 3 ทำให้ตลาดคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจที่อ่อนกำลังลง โดยตลาดซื้อขายล่วงหน้า Fed Funds Futures คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีก 4 ครั้ง ลงไปอยู่ที่ 1% ณ สิ้นปี 2020 เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ตลาดกำลังคาดหวัง (ลดดอกเบี้ยอีก 4 ครั้ง) กับสัญญาณที่เฟดกำลังพยายามสื่อสารกับตลาด (คงดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี 2020) นั้นมีช่องว่างอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะผิดหวังและทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกระลอก

เรามองว่าเฟดจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้มากเท่าที่ตลาดคาดหวัง เนื่องจาก

1. ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว โดยอัตราว่างงานของสหรัฐฯ ล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี และต่ำกว่าอัตราการว่างงานตามปกติ (Natural Rate of Unemployment) ที่เฟดประเมินไว้ที่ราว 4.5% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดแรงงานในปัจจุบันนั้นตึงตัวมาก และไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการจ้างงานด้วยการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม

2. อัตราเงินเฟ้อกลับมาสูงกว่าเป้า โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงาน (Core CPI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สู่ระดับ 2.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 และยังน่าจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลของการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกระลอกในเดือน ก.ย. โดยสินค้านำเข้าจากจีนที่ถูกปรับขึ้นภาษีในรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อดัชนีเงินเฟ้อมากกว่าการขึ้นภาษีในรอบที่ผ่านๆ มา

3. คณะกรรมการ FOMC บางส่วนไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย โดยการโหวตให้ลดดอกเบี้ยสองครั้งที่ผ่านมานั้นมี 2 เสียง (จากทั้งหมด 10 เสียง) โหวตแย้งให้คงดอกเบี้ย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงแนวคิดที่แตกต่างภายในคณะกรรมการเฟดเอง

นอกจากนี้หากย้อนไปดูในอดีตในช่วงที่เฟดมีการลดดอกเบี้ยในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-cycle Adjustment) ทั้งสองครั้งที่ผ่านมา ในปี 1995 และ 1998 เฟดลดดอกเบี้ยลงเพียงแค่ 3 ครั้งในแต่ละช่วง ซึ่งหากเทียบเคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เฟดลดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง ก็หมายความว่าเฟดอาจจะลดดอกเบี้ยลงอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

เรามองการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 29-30 ต.ค. นี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจุดชนวนให้เกิดการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกระลอก และแนะนำให้นักลงทุนทยอยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ที่มีความผันผวนสูง และแนวโน้มผลประกอบการยังถูกดดันจากสงครามการค้า รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

นอกจากนี้ แนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการอัดฉีดสภาพคล่องและการลดดอกเบี้ย เช่น ทองคำ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) และหุ้นในกลุ่มที่ผลกำไรไม่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจโลกมากนัก ทั้งยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว เช่น กลุ่มเฮลท์แคร์ เป็นต้น