posttoday

ตลาดอย่างนี้จะกลัวหรือจะกล้าดี

16 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

หลายเดือนที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และตอกย้ำมากขึ้นหลังจากตัวเลขสำคัญๆ เช่น ดัชนีทางด้านบริการและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ กลับมาต่ำกว่า 50 อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้เริ่มชะลอตัวลงมาก่อนหน้านี้แล้ว ประเด็นหลักที่ส่งผลยังคงหนีไม่พ้นนโยบายสงครามการค้าของทรัมป์ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สร้างความกังวลให้กับตลาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจได้เริ่มใกล้เข้ามาแล้ว

ท่ามกลางความวุ่นวายเหล่านี้ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จึงมีความพยายามกู้เศรษฐกิจโลกให้พ้นจากวิกฤตครั้งนี้ เริ่มจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในปีนี้ และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ขณะที่ฝั่งยุโรปการลดดอกเบี้ยต่อไป ไม่น่าที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไปเพราะดอกเบี้ยติดลบแล้ว และเริ่มมีการนำมาตรการ QE (มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) หรือ TLTRO (ให้ดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์) กลับมาใช้ใหม่ ด้านภาครัฐฯ ทั่วโลกก็เสริมด้านนโยบายการคลังด้วยเช่นกัน โครงการภาครัฐฯส่วนใหญ่สามารถสร้างกำไรได้

ตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างหนึ่งของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกคือภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ที่ตอนนี้แข็งแกร่งกว่าวิกฤตครั้งก่อนมาก โดยมีปัจจัยหนุนจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น อัตราการจ้างงานที่สูง รวมถึงสินทรัพย์ของผู้บริโภคที่ดูดีด้วย จากราคาบ้าน ราคาหุ้นที่ปรับขึ้น และที่สำคัญภาระหนี้ที่ลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยหนุนให้วัฏจักรเศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไป และดำเนินต่อไปอีก 3-5 ปี

ด้านภาคธุรกิจ นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มกังวลว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดของความสามารถในการทำกำไรไปแล้ว แม้ว่าผลประกอบการยังคงเติบโตอยู่แต่ความสามารถในการทำกำไรจะลดลง โดยรวมแล้วภาคครัวเรือนสหรัฐฯ ที่กำลังแข็งแกร่งจะยังคงเป็นส่วนช่วยในการพยุงภาคธุรกิจสหรัฐฯ ให้ไปต่อได้ด้วย

การที่ธนาคารกลางยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลาย ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตและเงินเฟ้อต่ำ น่าที่จะทำให้ราคาของสินทรัพย์เสี่ยงยังคงสามารถปรับตัวขึ้นไปได้อีก ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ จากภาพทั้งหมดที่ได้กล่าวมานั้นมีทั้งปัจจัยที่น่ากลัวและมีทั้งปัจจัยที่ควรจะกล้าลงทุน เพราะถึงแม้ว่าสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเติบโตที่ช้าลง แต่ก็ยังคงมีหลายมาตรการที่จะพยุงเศรษฐกิจ พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการชะลอตัว และพยุงให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อไปได้อีก การกระจายความเสี่ยงในช่วงนี้มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะโอกาสการลงทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้นทั้งสองด้าน อีกทั้งการดึงความรู้สึกออกจากการลงทุนในช่วงนี้สำคัญมาก ดังนั้นการลงทุนในลักษณะการใช้เครื่องมือและข้อมูลในการตัดสินใจแทนอารมณ์และความรู้สึกน่าที่จะช่วยให้การลงทุนยั่งยืนมากขึ้น