posttoday

ทุนจดทะเบียนสำคัญไฉน

16 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสธนาคารกสิกรไทย

ถ้าเราต้องปล่อยกู้สินเชื่อ คิดว่าเราน่าจะปล่อยกู้ให้คนที่มากู้ในนามบุคคลหรือในนามบริษัทดี หลายคนตอบว่า ในนามบริษัทเพราะดูน่าเชื่อถือดี น่าจะดีว่าในนามบุคคล ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคนส่วนใหญ่ที่ชอบเปิดบริษัทกันมาก บ้างก็บอกว่ามันดูดีเวลาไปติดต่องานกับใครๆ บ้างก็บอกว่าเพื่อให้ตัวเองดูน่าเชื่อถือ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ชอบค้าขายกับบริษัทมากกว่าบุคคลธรรมดา

ความจริงแล้วคำว่าบริษัทจำกัด เป็นบุคคลสมมติที่กฎหมายกำหนดขึ้นมาเพื่อคุ้มครองคนที่ทำธุรกิจ เพื่อไม่ให้ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินของบริษัทที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่จำกัดจากการทำธุรกิจ คำว่า “จำกัด” ที่อยู่หลังชื่อบริษัทนั้นก็คือการจำกัดความรับผิดชอบ ไม่ว่าธุรกิจจะไปก่อหนี้หรือทำความเสียหายมากแค่ไหน ตัวบริษัทเอง (ซึ่งเป็นบุคคลสมมติตามกฎหมาย) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อหนี้สินของบริษัท ไม่ใช่บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ถ้าบริษัทไม่มีปัญญาจ่ายหนี้สิน บริษัทก็ล้มละลายไป เจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัทนั้นจะไปตามหนี้ส่วนที่เหลือจากบุคคลที่เป็นเจ้าของบริษัทนั้นอีกไม่ได้

แต่ถ้าทำธุรกิจกับบุคคลธรรมดา ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา เจ้าหนี้ยังสามารถติดตามเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลที่เป็นเจ้าของได้โดยไม่จำกัดจำนวน พอมองเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ทำธุรกิจกับบริษัทใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีอย่างเดียว ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ไม่ยุติธรรมหรือเปล่า การที่มีบริษัทจำกัดขึ้นมาก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนค้าขายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะปกติแล้วการทำธุรกิจนั้นก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆนานามากมายอยู่แล้ว คนที่ทำธุรกิจนั้นมีโอกาสที่จะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายได้สารพัดทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ (ยิ่งพักหลังเวลาคนเคลมกันชอบเว่อร์ๆ กันด้วย ประมาณว่าเสียหายจริงๆ ไม่มาก แต่ไปลากเอาต้นทุนเสียโอกาส ต้นทุนทางจิตใจสารพัดที่จะคิดได้)

หากการทำธุรกิจแล้วมีโอกาสถูกฟ้องให้รับผิดชอบต่อหนี้สินทั้งหมด คงจะไม่ค่อยมีใครกล้ามาทำธุรกิจ ดังนั้นการที่มีกฎหมายเรื่องบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นบุคคลสมมติขึ้นมาก็เพื่อจะแยกหนี้สินที่อาจจะเกิดจากการทำธุรกิจออกจากคนที่ทำธุรกิจ เพื่อจะได้มีคนกล้าทำธุรกิจกันมากขึ้น ส่งผลให้มีการค้าขายการลงทุนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นการทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัด คือ ต้องการจำกัดความรับผิดชอบของคนทำธุรกิจต่างหาก แต่เราไปทึกทักเองว่าเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะความน่าเชื่อถือต้องไปพิจารณาปัจจัยอื่น ไม่ใช่พิจารณาจากรูปแบบของความเป็นบุคคลสมมติ

แล้วที่ว่าจำกัดความรับผิดชอบนั้น จำกัดเท่าไร ก็ต้องตอบว่า ความรับผิดชอบของเจ้าของบริษัทที่เป็นบุคคลธรรมดา หรือเป็นผู้ถือหุ้นจะถูกจำกัดให้รับผิดชอบเพิ่มเท่ากับ ทุนจดทะเบียนของบริษัทในส่วนที่ผู้ถือหุ้นยังไม่ได้ชำระ เช่น ถ้าทุนจดทะเบียนในตอนตั้งบริษัทหนึ่งล้านบาท ผู้ถือหุ้นชำระเต็มจำนวนหนึ่งล้านแล้ว กล่าวคือ เอาเงินใส่ไปในการดำเนินงานของบริษัทครบตามทุนจดทะเบียนแล้ว ผู้ถือหุ้นกรณีนี้ถือว่าไม่มีส่วนที่ยังไม่ชำระ ดังนั้นถือว่าผู้ถือหุ้นหลุดพ้นจากภาระหนี้สินทั้งปวงของบริษัทจำกัดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าเคยชำระไว้แค่หกแสนบาท ก็สามารถเรียกร้องเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นได้อีก สี่แสนบาท มากกว่านี้เจ้าหนี้ของบริษัทจะมาเรียกร้องใดๆ จากผู้ถือหุ้นเพิ่มเติมไม่ได้

นอกเหนือจากบริษัทจำกัด ก็ยังมีบุคคลสมมติอีกหนึ่งคือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ทุกอย่างคล้ายบริษัทจำกัดเลย มีการจำกัดความรับผิดชอบของเจ้าของไว้ ต่างกันตรงจำนวนผู้ก่อตั้งแค่นั้นเอง ห้างหุ้นส่วนจำกัดใช้สองคน บริษัทจำกัดใช้อย่างน้อยเจ็ดคน แต่ในทางปฏิบัติผมก็เห็นอีกหกคนนั้น บางทีก็เป็นแต่ในนามถือหุ้นเพียงคนละหนึ่งหุ้น (ผมเองจึงอนุมานว่าหนึ่งคน จริงๆ แล้วก็สามารถเปิดบริษัทได้) จึงไม่แปลกที่พักหลังนี้ คนตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดน้อยลง เพราะไปตั้งเป็นบริษัทเลยดีกว่า

คนที่ตั้งบริษัทขึ้นมา นอกจากเป็นผู้ถือหุ้นแล้วยังเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทด้วยนั้น แม้ว่าคุณจะชำระทุนจดทะเบียนครบแล้ว ซึ่งทำให้คุณปลอดจากภาระหนี้สินทางแพ่งในฐานะของผู้ถือหุ้น แต่ถ้าบริษัทดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายอาญาบางอย่าง กรรมการบริษัทก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้องในฐานะที่เป็นผู้แทนของบริษัทได้ ดังนั้นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ชำระครบจำนวนและไม่ได้เป็นกรรมการบริษัท จึงจะปลอดจากภาระในการรับผิดชอบทั้งปวง แต่คุณก็ไม่ได้บริหารบริษัทเช่นกัน

นอกเหนือจากรูปแบบการเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นตัวแทนของความน่าเชื่อถือแล้ว ยังมีเรื่องคือขนาดของทุนจดทะเบียนที่คนมักจะสรุปว่า ทุนจดทะเบียนมากน่าเชื่อถือมาก ทุนจดทะเบียนน้อยน่าเชื่อถือน้อย ซึ่งมันไม่เสมอไป เพราะทุนจดทะเบียนเป็นการบอกขนาดของบริษัทในวันที่บริษัทเริ่มกิจการเท่านั้น เพราะเวลาผ่านไปบริษัทที่ทุนจดทะเบียนน้อย อาจมีกำไรสะสมมากจนเป็นกิจการขนาดใหญ่ก็ได้ ในทางกลับกันบริษัททุนจดทะเบียนมาก แต่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง จนแทบมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ทุนจดทะเบียนก็ยังเท่าเดิม ดังนั้นขนาดของทุนจดทะเบียนจึงไม่ใช่ตัวสะท้อนความมั่งคั่งของบริษัท

ถ้าบังเอิญคุณมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท คุณอาจกังวลใจบ้าง เพราะที่จริงแล้วการที่เราให้บริษัทติดหนี้เรานั้นไม่ได้มีความปลอดภัยเท่าไรนัก เจ้าของบริษัทอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเจ้าหนี้ ดังนั้นการพิจารณาในการทำการค้ากับบริษัทใด ต้องดูผลประกอบการของเขาดีๆ ว่าจะไปรอดไหม หรือไม่ก็ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน เพราะอย่างน้อยก็ได้รับการชำระหนี้เป็นหลักประกันแน่นอน ไม่ต้องรอแบ่งทรัพย์เหมือนเจ้าหนี้รายอื่นๆ