posttoday

ESG Corner : เศรษฐกิจหมุนเวียน

10 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง

เรื่อง ESG Corner:เศรษฐกิจหมุนเวียน 

โดย อรุณี ศิลปการประดิษฐ

กองทุนบัวหลวง

................................................................................

ในอดีตที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของโลกเป็นระบบการผลิตทางตรง (Linear Economy) ซึ่งเป็นการดึงทรัพยากรมาใช้ (Take) เพื่อทำการผลิต (Make) เป็นสินค้าและนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค จนกระทั่งหมดประโยชน์แล้วก็ทิ้ง (Dispose) ให้ทรัพยากรนั้นกลายเป็นขยะ จากระบบการผลิตทางตรงนั้นก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังเป็นการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เพื่อการผลิตสินค้าที่นำไปใช้เพียงครั้งเดียว


จากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยประมาณการว่า ในปี 2030 ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะมีสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ และจะสูงขึ้นเป็น 4 เท่าในปี 2050

เมื่ออัตราการใช้ทรัพยากรมากกว่าที่โลกของเราจะผลิตได้ ดังนั้น ทางออกเดียวที่จะเป็นไปได้ ก็คือ ลดการใช้ทรัพยากรลง หรือการใช้ทรัพยากรให้มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) จึงเกิดขึ้นมาให้เป็นทางเลือกเพื่อจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการรีไซเคิลเท่านั้น แต่หมายรวมถึง ระบบอุตสาหกรรมที่มีการวางแผนและออกแบบมา เพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค โดยจะนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น กลับมาสร้างคุณค่าใหม่ ทั้งหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย

นอกจากนี้ ยังเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอกเชิงลบ รวมทั้งการใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษหรือเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้อีกครั้ง

โมเดลธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่

- Circular Supply Model เป็นการนำวัสดุที่เคยใช้แล้ว หรือวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ รวมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียนมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดการเกิดของเสีย เช่น การนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมทำถนนยางมะตอย เพื่อลดขยะพลาสติกและยังช่วยเพิ่มความคงทนของถนน

- Resource Recovery Model การออกแบบกระบวนการผลิตเพื่อนำวัตถุดิบที่เหลือใช้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกกำจัด ให้กลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้อีกครั้ง เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด เช่น การนำเศษอาหารที่หมดอายุไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป นอกจากนี้ กากของวัตถุดิบที่เหลือยังสามารถนำไปผลิตเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

- Product Life Extension Model เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือใช้วัตถุดิบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับการนำไปรีไซเคิลหลังจากเลิกใช้แล้ว

- Sharing Model เน้นการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือสนับสนุนให้ใช้สินค้าร่วมกัน เช่น การแบ่งปันพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-Working Spaces) ธุรกิจ Airbnb หรือ การใช้ระบบ car pool เพื่อลดปัญหาการจราจร หรือการปล่อยมลภาวะ

- Product Service System Model การใช้รูปแบบการเช่าแทนการซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการลดภาระในการดูแลผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันเป็นการช่วยลดการซื้อที่ไม่จำเป็นและใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อันจะส่งผลให้เป็นการลดต้นทุนไปโดยปริยาย

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ นอกจากจะเป็นการช่วยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจสามารถเติบโตขึ้นได้ในระยะยาว จากการพัฒนากระบวนการผลิตภายใต้แนวคิดนี้ จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง แม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่องของการจัดการขยะกันมากขึ้น แต่ในเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับภาคธุรกิจนั้น ยังไม่เกิดขึ้นชัดเจนเท่าไรนัก เพราะในปัจจุบัน ยังมีบริษัทจำนวนไม่มากนัก ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดังนั้น การที่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดขึ้นได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือ จากทั้งภาครัฐ ในการสนันสนุนเชิงนโยบาย และภาคเอกชน รวมถึงผู้บริโภค ที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงเข้าใจประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจให้ก้าวสู่ความยั่งยืนในอนาคต

https://www.oecd.org/environment/waste/recircle.htm
https://www.oecd-ilibrary.org/environment/business-models-for-the-circular-economy_g2g9dd62-en
https://www.greenbiz.com/article/5-business-models-put-circular-economy-work