posttoday

เคล็ดลับในการขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก

09 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...K-Expert ธเนศ นวะบุศย์ ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...K-Expert ธเนศ นวะบุศย์ ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย

ถ้าพูดถึงการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน หลายคนอาจมีประสบการณ์จากการโดนปฏิเสธมานักต่อนักจนเริ่มเหนื่อยใจในการยื่นเอกสารการกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งหากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่อยากได้เงินลงทุนสักก้อนเพื่อนำมาปรับปรุงหรือลงทุนหรือหมุนเวียนในธุรกิจตัวเอง เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจการ วันนี้เรามีเคล็ดลับที่เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยให้กรอบลักษณะของธุรกิจว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็กยอดขายไม่เกิน 50 ลบ.และเงินทุนหมุนเวียนในกิจการไม่เกิน 12 ลบ. มาฝากกัน

การที่จะขอสินเชื่อให้ได้รับการอนุมัติ ต้องรู้จักการเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน โดยควรเริ่มต้นจากการจดทะเบียนการค้าถูกต้องตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนพาณิชย์ การจดทะเบียนนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงการดำเนินกิจการว่าเราดำเนินธุรกิจ SMEs อยู่จริง และเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย , มีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีบัญชีทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับยอดขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่าย สต็อกสินค้า เจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานให้ธนาคารตรวจสอบว่าเรามีแหล่งรายรับ-รายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจที่ธนาคารจะใช้พิจารณาในการผ่อนชำระเงินกู้ , มีการเดินบัญชีผ่านธนาคารอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหมายถึงการมียอดเดินบัญชีบ่อย ๆ ไม่ถอนเงินออกจากธนาคารก้อนเดียวทั้งหมด หรือถอนเงินออกหมดในคราวเดียวกันภายในวันเดียวกัน , มีประวัติการจ่ายหนี้ที่ดี เปรียบเสมือนการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องความมีวินัยทางการเงิน

โดยปกติกระบวนการพิจารณาเครดิตของสถาบันการเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็กนั้น นิยมใช้เครื่องมือการพิจารณาเครดิตอัตโนมัติ (Credit Scoring หรือ Formula Lending) ที่มีวงเงินในการพิจารณาไม่สูง ส่วนใหญ่จะไม่เกิน 12 ลบ. ซึ่งแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนดปัจจัยในการพิจารณาเครดิตที่เหมาะสมทั้งนี้หลักการพิจารณาอนุมัติเครดิตที่สำคัญต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายของธนาคาร และ ความสามารถในการชำระหนี้คืนจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและความเหมาะสมของหลักประกัน

1. ลักษณะประเภทสินเชื่อ

สามารถขอสินเชื่อได้ทั้ง วงเงินสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว(สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน) และวงเงินสำหรับหมุนเวียนในกิจการ เช่น Loan, OD, PN , LC, TR, Packing Credit , หนังสือค้ำประกัน (LG) เป็นต้น

2. สัดส่วนการลงทุน

การขอวงเงินเครดิตเพื่อการก่อสร้างที่มีหลักประกันเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต ธนาคารสามารถให้วงเงินเครดิตได้ 100% ของมูลค่าการลงทุน โดยสามารถให้กู้ได้ทั้งกรณีกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำนองเป็นของผู้ขอเครดิตเอง และกรณีกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำนองไม่ได้เป็นของผู้ขอเครดิต

3. หลักประกัน

• ประเภทหลักประกัน ที่สามารถนำเสนอเพื่อขอเครดิตได้ คือ ที่ดิน , ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง , บัญชีเงินฝาก , บสย. ฯลฯ

• อัตราส่วนมูลค่าวงเงินต่อหลักประกัน (Loan to Value) โดยส่วนใหญ่ ถ้าเป็นลูกค้าเก่า สูงสุด 95% , ลูกค้าใหม่ สูงสุด 80%

4. ความสามารถชำระหนี้

พิจารณาจากรายได้สุทธิเทียบกับภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ (เงินต้นและดอกเบี้ย) (DSCR) ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1.2 - 1.5 เท่า

5. การพิจารณารายได้

ใช้วิธีการพิจารณารายได้ แบบ Statement สะท้อนรายได้ ทั้งนี้ผู้กู้ต้องเตรียมเอกสารทางการเงินที่สำคัญ คือ สำเนารายการเดินบัญชี (Statement) จากสถาบันการเงิน ย้อนหลัง 6 เดือน , สำเนางบการเงินย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 ปี , สำเนา ภ.พ.30 ย้อนหลัง 6 เดือน

การขอสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องยาก หากผู้ประกอบการเข้าใจหลักการและแนวทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งแหล่งเงินทุนที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปก็คงหนีไม่พ้นธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแต่ละธนาคารมีเงื่อนไขข้อกำหนดแตกต่างกันออกไป ใครที่คิดจะไปกู้เงินมาลงทุนก็ขอให้ศึกษารายละเอียดให้รอบคอบเสียก่อนจะได้ไม่เสียเวลา