posttoday

ความรู้เรื่องการเงินกับการแก้ปัญหาชาติ

08 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเงิน” เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนยุคใหม่อย่างพวกเรา ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน ชีวิตก็จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินๆ ทองๆ ตลอดทั้งวัน และนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่พวกเรายังอยู่ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่มักมีสิ่งล่อตาล่อใจ ให้เราอยากได้ อยากซื้อ อยากเป็นเจ้าของสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ มากขึ้น บทความนี้ จะชี้ให้เห็นถึง ปัญหาชาติบางส่วนที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาของประชาชนในเรื่อง “ความรู้ทางการเงิน”

มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า “อันเงินทองย่อมไหลจากผู้ที่มีความรู้ทางการเงินต่ำกว่าไปยังผู้ที่มีความรู้ทางการเงินที่สูงกว่า” ผมมาวิเคราะห์คำพูดดังกล่าวแล้วพบว่า คำพูดนั้นก็เป็นจริงอยู่ เพราะเมื่อพวกเรามีความรู้ทางการเงินน้อย ก็ไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เช่น ในเรื่องของการกู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค หากพวกเราไม่รู้จักดอกเบี้ย ไม่รู้จักการเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่อยู่ในรูปแบบที่ต่างกันว่า ทางเลือกไหนจะถูกหรือแพงกว่ากัน พวกเราจะไม่รู้เลยว่า พวกเราซื้อของแพงแค่ไหน หรือพวกเราจะเป็นหนี้นานขนาดไหน เป็นต้น

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ใกล้ๆ ตัวของพวกเราก็คือ คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน กับดอกเบี้ยที่เรากู้เพื่อซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ คิดคำนวณคนละแบบกัน (ดังนั้น หากดูเพียงตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่เห็น จึงไม่สามารถบอกได้ว่าดอกเบี้ยแบบไหนถูกกว่ากัน หรือแพงกว่ากัน) ความจริงแล้ว ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านกับดอกเบี้ยเพื่อกู้ซื้อรถยนต์ ที่เรารับรู้นั้น ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ หากเราจะเปรียบเทียบกันได้ เราก็ต้องแปลงอัตราดอกเบี้ยให้เป็นแบบเดียวกัน (ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกหรือ Effective rate) เสียก่อน

ดังนั้น ในการซื้อรถแบบเช่าซื้อ ที่อัตราดอกเบี้ยคงที่ (ดอกเบี้ยคงที่ มักใช้สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะคำนวณดอกเบี้ยที่ลูกค้าต้องชำระจากเงินต้นทั้งก้อนที่คงที่ตลอดอายุของสัญญา แม้ว่าลูกค้าจะได้ทยอยผ่อนชำระเงินต้นบางส่วนไปเรื่อยๆ แล้วก็ตาม หรือที่มักเรียกกันว่าอัตราดอกเบี้ยแบบ Flat rate) เช่น ที่ระดับ 1.99 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ฟังดูเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก มองผิวเผินอาจดูว่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเพียงนิดหน่อยเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว หากแปลงมาเป็นดอกเบี้ยลดต้นลดดอก จะสูงถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปีเลยทีเดียว และนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนที่มีความรู้ทางการเงินเหนือกว่า ก็จะพยายามมองโอกาสทางการค้าและหาช่องทางในการสื่อสาร โดยคนที่มีความรู้ทางการเงินน้อยกว่านั้นไม่ทราบถึงความแตกต่างที่น่ากลัวเหล่านี้ เป็นต้น หากถามว่าพ่อค้าเหล่านี้มีความผิดก็คงไม่ได้ เพราะเขาพูดความจริง เพียงแต่ผู้ซื้ออาจไม่เข้าใจกลไกและประเภทของดอกเบี้ย จึงตกลงใจซื้อด้วยข้อตกลงนี้ และนี้คือจุดเริ่มต้นของวงจรแห่งความเป็นหนี้ที่ไม่รู้จักจบสิ้น เพราะผู้ซื้อมิได้ประเมินความสามารถในการเป็นหนี้ของตนเองก่อน

จะเห็นได้ว่า “ความรู้ทางการเงิน” ที่แตกต่างกันของคนในสังคม เป็นสาเหตุหนึ่งของช่องว่างระหว่างรายได้ของชนชั้นกลางและคนที่มั่งคั่งในสังคม ดังนั้น หากภาครัฐต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทางหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือการให้ความรู้ทางการเงินกับกลุ่มคนต่างๆ ความรู้ทางการเงินจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ดีอีกทางหนึ่งด้วย ถึงแม้ว่า “ความรู้ทางการเงิน” จะมีความสำคัญมากในการดำเนินชีวิตของพวกเรา แต่กลับไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด ซึ่งในประเด็นนี้ ผมมีความเห็นว่า หากเยาวชนของชาติ ได้เรียนศาสตร์แห่งการวางแผนการเงินส่วนบุคคลตั้งแต่เด็กๆ หรืออย่างน้อยก็น่าจะได้รับความรู้ทางการเงินเบื้องต้นอย่างพอเพียงก่อนโตเป็นผู้ใหญ่ และจะให้เกิดผลที่ดียิ่งขึ้น ควรจะต้องเริ่มต้นที่การบรรจุความรู้ทางการเงินไว้ในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตหรือศึกษาศาสตรบัณฑิตเพื่อพัฒนาคุณครูตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยซ้ำ เพื่อที่จะได้เอาตัวรอดจากภาระหนี้สินและสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้กับนักเรียนได้ดียิ่งขึ้น

จากการที่สื่อต่างๆ ได้รายงานถึงปัญหาหลักของหนี้สินของอาชีพครู ว่ามีสาเหตุมาจากการไม่มีวินัยทางการเงิน ทำให้มีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งเกิดจากการที่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการก่อหนี้และมีความรู้ทางการเงินที่ไม่เพียงพอ โดยการกู้เงินถูกมองว่าเป็นรายรับอีกทางหนึ่งในสายตาของคุณครูบางกลุ่ม ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นภาระผูกพันหรือหนี้ที่ต้องชำระ ทำให้ผลที่ตามมาคือการกู้หนี้ยืมสินจนเกินตัว ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ทั้งหมดนี้เกิดจากการขาดทักษะชีวิตเรื่องการเงิน ไม่รู้กลไกของตลาดเงินและดอกเบี้ย และไม่รู้เรื่องการทำบัญชีรับจ่าย ขาดการปลูกฝังวินัยทางการเงินตั้งแต่สมัยเรียน จึงทำให้ปัญหาทางการเงินบานปลาย จนขาดอิสรภาพทางการเงิน

ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องช่วยกันปลูกฝังวินัยทางการเงิน โดยเริ่มต้นการให้ความรู้กับคุณครูและหวังว่าคุณครูจะส่งต่อทักษะความรู้ทางการเงินและวินัยทางการเงินให้กับเยาวชนของชาติต่อไป เพราะว่าหากครูยังไม่สามารถบริหารจัดการหนี้สินหรือยังจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ ส่วนบุคคลไม่ได้ ก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่คุณครูตั้งใจไว้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับประชาชนทั่วไป การให้ความรู้ทางการเงินที่เพียงพอจะสามารถลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนในสังคมและช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดจากความไม่มีความรู้ทางการเงิน นอกจากนี้ “ความรู้ทางการเงิน” ยังเป็นสิ่งสำคัญนอกจากจะใช้เป็นฐานความรู้ในการวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และตัดสินใจแล้ว ยังเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เราต้อง “เสียรู้” หรือ “ตกเป็นทาส” ให้กับธุรกรรมทางการเงินที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ ได้อีกด้วย