posttoday

ความคืบหน้าสงครามการค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้

07 ตุลาคม 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.40-30.70 ความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคมจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินสัปดาห์นี้ ซึ่งหากการเจรจาไม่บรรลุผลอย่างที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ จะส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น รวมถึงค่าเงินบาท ด้านสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาจากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐฯ-จีน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดเริ่มเพิ่มการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมเดือนนี้ ซึ่งหากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในสัปดาห์ที่ออกมาย่ำแย่กว่าคาด จะยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนสูง โดยในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าอย่าวรวดเร็วและแตะระดับสูงสุดที่เกือบ 30.69 ในช่วงท้ายของวันจันทร์ก่อน ตามทิศทางของเงินเยนที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม หลังจากธนาคาแห่งประเทศไทยรายงานตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดในเดือนสิงหาคมที่ 3,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐก็ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าลงบ้าง แม้ว่าในรายละเอียดแล้ว ดุลการค้าที่เกินดุลสูงมาจากการนำเข้าจะอ่อนแอลงมากขณะที่การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในสัปดาห์นี้อ่อนแอลงมากทั้งหมด ประกอบด้วย

(1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดย ISM เดือนกันยายนแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2009 หรือช่วงวิกฤตเศรษฐกกิจ

(2) การจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP ยังเพิ่มขึ้นเพียง 135,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์และการจ้างงานในเดือนก่อนหน้า

(3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ โดย ISM อยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 ทำให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ทำให้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.438 ณ วันที่ 4 ตุลาคม เวลา 17.30 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดตราสารหนี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่ตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ โดย ISM เดือนกันยายนที่ประกาศออกมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2009 ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 49.1 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งตัวเลขที่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนการผลิตโดยรวมที่หดตัว อันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า

ถัดมาเป็นการประกาศตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐจาก ADP ที่ปรับเพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 140,000 ตำแหน่ง และต่ำกว่าในเดือนสิงหาคมที่เพิ่มขึ้น 157,000 ตำแหน่ง

ตามมาด้วยการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการโดย ISM เดือนกันยายนอยู่ที่ 52.6 ลดลงจากระดับ 56.4 ในเดือนสิงหาคม และต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 55.0 ตัวเลขที่ประกาศออกมาทำให้นักลงทุนเริ่มแสดงความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนผ่านความน่าจะเป็นที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ในการประชุมเดือนตุลาคมได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 85% ในช่วงท้ายของสัปดาห์ จากความน่าจะเป็นที่ระดับ 39% ในช่วงต้นสัปดาห์

ขณะที่ถ้ามองไปในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯในเดือนธันวาคม ตลาดฟิวเจอร์ได้ให้ความน่าจะเป็นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงเหลือ 1.25-1.50% มีโอกาสอยู่ที่ 45% ขณะเดียวกันประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างออสเตรเลียก็ได้เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยลง 25 bps มาอยู่ที่ 0.75% ซึ่งถือว่าเป็นการลดดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป

ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government Yield Curve) ปรับตัวโดยมีความชันลดลง กล่าวคืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานในพันธบัตรระยะสั้น รวมไปถึงมติการคงดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดโลก อันเป็นผลจากความกังวลต่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ทำให้ปิดสัปดาห์วันที่ 4 ตุลาคม 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.39% 1.36% 1.36% 1.38% 1.44% และ 1.50% ตามลำดับ