posttoday

ความคืบหน้าสงครามการค้าและปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ อาจมีผลต่อเงินบาทต่อเนื่อง

30 กันยายน 2562

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.50-30.80 ปัจจัยต่างประเทศคาดว่าจะยังคงเป็นบทบาทต่อเงินบาทต่อเนื่อง โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยก่อนการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม คาดว่าตลาดจะติดตามความเคลื่อนไหวจากการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด

อีกทั้งประเด็นถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์เนื่องจากความเกี่ยวข้องต่อการกระทำผิดเงื่อนไขการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นปีหน้าอาจมีผลต่อเงินดอลลาร์เช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยของไทยอาจมีผลต่อบาทในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากทางการจะมีประกาศระดับดุลบัญชีเดินสะพัดและอัตราเงินเฟ้อของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในต่างประเทศอยู่ในช่วงปลายสัปดาห์ คือ การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินเดียและออสเตรเลีย โดยนักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางของออสเตรเลียมีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงเล็กน้อย เงินบาทเปิดตลาดที่ 30.483 และเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ลดลงจากความเสี่ยงด้านการเมืองสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ถอดถอนประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เนื่องจากมีหลักฐานว่าให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามที่ตลาดคาด และประกาศลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลงทั้งในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.3% ในประมาณการรอบก่อนเมื่อเดือนมิถุนายน และคาดว่าการส่งออกจะหดตัว 1.0% โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยก่อนการประชุม แต่เมื่อที่ประชุมมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังจากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ตลาดยังคาดหวังว่าสหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้เร็วๆ นี้ โดยทั้งสองฝ่ายมีกำหนดกลับมาเจรจากันอีกครั้งระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 30.64 (ณ เวลา 16.50)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวตามประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเป็นหลัก โดยต้นสัปดาห์ตลาดเกิดความสับสนจากการที่ตัวแทนเจรจาการค้าของจีนยกเลิกตารางการเยี่ยมชมฟาร์มของสหรัฐฯ รวมไปถึงการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวบนเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ว่าจีนทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมและสหรัฐจะไม่ยอมรับข้อตกลงการค้าที่ทำให้ตนเองเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามในช่วงท้ายสัปดาห์บรรยากาศเริ่มกลับมาดูดีขึ้นภายหลังจากที่ัับสนประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าสหรัฐฯ อาจบรรลุข้อตกลงกับจีนในเร็วๆ นี้ พร้อมกับระบุว่าจีนได้กลับมาเริ่มนำเข้าสินค้าเกษตร รวมถึงเนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝั่งสหรัฐฯ และจีนได้กำหนดที่จะกลับมาเจรจากันในวันที่ 10-11 ในเดือนตุลาคมที่วอชิงตัน ดี.ซี.

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนเฝ้ารอคือผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ1.50% พร้อมกับประกาศลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลงทั้งในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.3% ในประมาณการรอบก่อนเมื่อเดือนมิถุนายน และลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2020 ลงมาอยู่ที่ 3.3% จาก 3.7% ทั้งนี้ถ้าดูจากคำแถลงการณ์จะเห็นว่ามีโทนค่อนข้าง Dovish สะท้อนผ่านมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่ดูอ่อนแอลงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวลงมาก ทำให้มีการปรับลดประมาณการณ์การส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว 1.0% ในปีนี้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จึงทำให้มติการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพียงการหยุดเพื่อรอดูและประเมินสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพัฒนาการของการเจรจาสงครามการค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน และถ้าสถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น เราคาดว่ามีโอกาสได้เห็นการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งก็เป็นได้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยปิดสัปดาห์วันที่ 27 กันยายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.39% 1.36% 1.36% 1.38% 1.44% และ 1.50% ตามลำดับ

ความคืบหน้าสงครามการค้าและปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ อาจมีผลต่อเงินบาทต่อเนื่อง



กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 4,870 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 441 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,737 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 692 ล้านบาท