posttoday

หุ้นโกลบอล เฮลท์แคร์ ยืนหนึ่งเหนือรีเซสชั่น

25 กันยายน 2562

คอลัมน์ I wish you wealth

คอลัมน์ I wish you wealth

เรื่อง หุ้นโกลบอล เฮลท์แคร์ ยืนหนึ่งเหนือรีเซสชั่น

โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

..............................................................

ใกล้เข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 แล้ว ท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูง นับตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นโดยรวมยังให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีแก่นักลงทุน สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการปรับประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของนักวิเคราะห์ที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า ในภาพรวมกลุ่มตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า กลุ่มตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ เช่น ตลาดหุ้นเอเชียและไทย เนื่องจากตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วได้รับผลกระทบจากการปรับลดประมาณการของนักวิเคราะห์ที่น้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งสงครามการค้า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนของการเจรจาเบร็กซิตได้ส่งผลให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้นในช่วงไตรมาส 3 จึงเห็นธนาคารกลางหลักๆ ของโลกออกมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งติดต่อกันสู่ระดับ 1.75-2% ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ลดดอกเบี้ยลงจาก -0.4% เป็น -0.5% และทำคิวอี วงเงินสองหมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยไม่จำกัดระยะเวลา

ท่ามกลางสภาวะดังกล่าว นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหันมาเลือกลงทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) มองว่าหุ้นกลุ่มโกลบอล เฮลท์แคร์ ที่เคยสร้างผลแทนที่ยอดเยี่ยมให้กับนักลงทุนทั่วโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้งในช่วงนี้ และมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกโดยรวม

หุ้นโกลบอล เฮลท์แคร์ นั้น ถือว่าเป็นกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอานิสงค์จากเมกะเทรนด์ของสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จากสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 1960-2010 ในสหรัฐฯ พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 818% ในขณะที่การเติบโตของจีดีพีกับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 168% และ 16% ตามลำดับในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ การใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคตยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นไปอีกมาก อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวสูงกว่ากลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีถึง 3 เท่า ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ นั้นจะได้รับประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากเมกะเทรนด์ของสังคมผู้สูงอายุและความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว ส่งผลให้ผลประกอบการหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่สูง มีความสม่ำเสมอ และถือเป็นกลุ่มหุ้นสามารถทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ หากเราย้อนกลับดูช่วงเศรษฐกิจถดถอย 3 ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นในปี 1990, 2001 และ 2008 กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น S&P 500 หดตัวลงประมาณ -28%, -22% และ -36% ตามลำดับ

ในขณะที่กำไรต่อหุ้นของบริษัทในกลุ่มเฮลท์แคร์ สามารถเติบโตได้ +9%, +9% และ +4% ตามลำดับในช่วงเวลาเดียวกัน ล่าสุด ไตรมาสที่ 2/2019 ที่ผ่านมา ยอดขายและกำไรของหุ้นกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยสามารถขยายตัวได้ถึง 13.96% และ 10.96% ตามลำดับ นับเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ในขณะที่ยอดขายและกำไรของหุ้นในดัชนี S&P500 ขยายตัวได้เพียง 3.71% และ 1.76% ตามลำดับ

แม้ว่าหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ในปีนี้จะเผชิญแรงกดดันเรื่องการควบคุมบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจากการชูนโยบายหาเสียงของทั้งฝั่งพรรคRepublicans และ Democrats ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นปี 2020 อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกยังคงมีมุมมองว่า การผ่านร่างกฎหมายเพื่อควบคุมบริษัทเฮลท์แคร์ดังกล่าวยังคงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

ด้าน TISCO ESU มองว่าความเสี่ยงดังกล่าว น่าจะสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์มากพอสมควรแล้ว โดยปัจจุบันหุ้นกลุ่มนี้ซื้อขายที่ระดับ Fwd PE 14.8 เท่า ต่ำกว่า Fwd PE ของตลาดหุ้น S&P 500 ที่ 17 เท่า หรือคิดเป็นส่วนลด (Discount) จากดัชนีตลาดราว 13% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงปี 2016 ที่สหรัฐฯ มีการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน ซึ่งหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ เผชิญแรงเทขาย เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากนโยบายหาเสียงที่จะผลักดันกฎหมายการควบคุมราคายาของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดคลายความกังวลและนโยบายการลดราคายาไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ราคาหุ้นจึงกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ในเวลาต่อมา ทั้งนี้ หากเราเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต จะพบว่าหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ปกติมักจะเทรดพรีเมี่ยม หรือ มีการซื้อ-ขายที่ระดับ Fwd PE ที่สูงกว่าดัชนี S&P500 ประมาณ 10% จึงถือว่าในปัจจุบัน Valuation ของหุ้นกลุ่มนี้ซื้อ-ขายกันในระดับที่ถูกเมื่อเทียบกับในอดีต

ดังนั้น เราจึงมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสครั้งสำคัญที่ตลาดหุ้นเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนทั่วโลกได้ซื้อหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตในระยะยาวที่สูง ตามเมกะเทรนด์สังคมผู้สูงอายุในราคาที่มีส่วนลดอีกครั้ง ทั้งนี้ เราแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ผ่านกองทุนรวมที่ผู้จัดการกองทุนมีความชำนาญในการคัดเลือกหุ้นและสามารถปรับเพิ่ม/ลดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยได้ตามสถานการณ์ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวให้กับนักลงทุน