posttoday

จับตาผลการประชุมกนง.

23 กันยายน 2562

คมลัม มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

คมลัม มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.30-30.70 โดยประเมินว่าเงินบาทจะยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า เนื่องจากประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% แม้ว่าธนาคารสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งนี้ ตลาดคาดว่าธนาคารกลางนิวซีแลนด์จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน แต่คาดว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง

ด้านเงินปอนด์ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามประเด็น Brexit โดยศาลสูงสุดมีกำหนดพิพากษาคำสั่งการหยุดพักการประชุมรัฐสภาของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ว่ามีความผิดหรือไม่ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ นักลงทุนรอติดตามการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของประเทศเศรษฐกิจหลักเพื่อประเมินผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงตัวเลขจีดีสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 (ปรับปรุงครั้งที่ 3) และตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนสูงในทิศทางแข็งค่า เงินบาทอ่อนค่าอย่างมากเมื่อเทียบกับราคาปิด ณ วันศุกร์ เนื่องจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สูงขึ้น โดยโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย 2 แห่งถูกโดรนโจมตีเสียหาย ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเงินเยนและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับแข็งค่า เนื่องจากความกังวลต่อทิศทางของราคาน้ำมันลดลง หลังจากทางการซาอุดิอาระเบียคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูกำลังการผลิตทั้งหมดได้ภายในเดือนกันยายน ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แม้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ 1.75-2.00% ตามที่ตลาดคาด แต่กลับไม่ได้ลงสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกดดันให้เงินบาทกลับอ่อนึค่าอีกครั้ง ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว โดยปิดตลาดที่ระดับ 30.46 (ณ เวลา 17.33 น.) เนื่องจากตัวเลขดุลการค้าตามระบบศุลกากรของไทยเดือนสิงหาคมกลับมาเกินดุลสูง

ประเด็นสำคัญในตลาดตราสารหนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการประชุมธนาคารกลางในหลายประเทศ เริ่มจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25 bps มาอยู่ที่ 1.75-2.00% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด อย่างไรก็ตามถ้าดูจาก Dot Plot ที่ประกาศในครั้งนี้ดูเหมือนว่าทิศทางดอกเบี้ยต่อจากนี้ยังดูไม่ชัดเจน จากการที่มีคณะกรรมการ 5 ท่านสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง อีก 5 ท่านสนับสนุนให้คงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี และที่เหลืออีก 7 ท่านที่สนับสนุนการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 1 ครั้ง ทั้งนี้เมื่อเรามาพิจารณาดูสิ่งที่นักลงทุนคาดการณ์ต่ออัตราดอกเบี้ยในอนาคตผ่านตลาดฟิวเจอร์ จะเห็นว่าตลาดให้โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 25 bps ในการประชุมเดือนตุลาคมกับเดือนธันวาคม อยู่ที่ 43% และ 80% ตามลำดับ (ณ วันที่ 20 กันยายน 62 เวลา 16.00 น.) ส่วนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ถึงแม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ -0.10% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่ก็ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากมีปัจจัยที่จะมากระทบทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อลดต่ำลง

ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 25 กันยายน 2562 ในมุมหนึ่งประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯและยุโรปได้ดำเนินการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มขึ้น สะท้อนภาพมุมมองที่ธนาคารกลางเห็นความเสี่ยงของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายและแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขการส่งออกตามระบบศุลกากรหดตัว 4% และการนำเข้าหดตัว 14.62% ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้มีการลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งความกังวลต่อหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้มีการคงดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ นักลงทุนคงต้องติดตามว่า กนง.จะมีท่าทีต่อการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินอย่างไร
ในส่วนของความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง โดยเห็นแรงซื้อจากกลุ่มนักลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก ปิดสัปดาห์วันที่ 20 กันยายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.40% 1.36% 1.36% 1.38% 1.45% และ 1.53% ตามลำดับ

จับตาผลการประชุมกนง.

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 16,484 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 9,459 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,617 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 408 ล้านบาท