posttoday

เศรษฐกิจโลกกำลังจะถดถอยใช่ไหม ?

19 กันยายน 2562

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง 

คอลัมน์ ห้องความรู้บัวหลวง 

เรื่อง เศรษฐกิจโลกกำลังจะถดถอยใช่ไหม ?

โดยวรวรรณ ธาราภูมิ

ประธานกรรมการบริหาร กองทุนบัวหลวง

.....................................................

มีสัญญาณบ่งชี้หลายอย่าง เช่น สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นตัวเร่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดในขณะนี้ แล้วยังมีเรื่องอังกฤษจะแยกตัวออกจากอียู ตามประสาชาวเกาะที่ไม่มีความผูกพันกับคนในทวีปยุโรป ในขณะที่ชาติอื่นๆ บนแผ่นดินเขา เดี๋ยวก็รวมกัน เดี๋ยวก็ตีกัน เดี๋ยวก็แยกกัน เดี๋ยวก็ส่งออก ซึ่งการสมรสในราชวงศ์กันมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ จนผู้คนไม่รู้สึกถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติกันมาก

ก็คล้ายๆ ญี่ปุ่นที่แปลกแยกและเหนียวแน่นในความเป็นชาตินั่นแหละ

อีกอย่างที่กังวลกันมาก ก็คือ สัญญาณ Inverted yield curve ที่สะท้อนว่า นักลงทุนหรือผู้ออมยินดีรับดอกเบี้ยระยะยาวในอัตราที่ต่ำกว่าการฝากหรือการออมสั้นๆ ซึ่งมันผิดปกติ แสดงว่า คนมองเศรษฐกิจในอนาคตแย่

Inverted yield curve ที่ว่านี้ ใช้พยากรณ์เศรษฐกิจถดถอยได้แม่นยำมาก เพราะในรอบ 60 ปีที่ผ่านมานี้ ไม่มีครั้งใดที่เมื่อ Inverted yield curve เกิดแล้ว จะไม่ตามมาด้วยการถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งครั้งล่าสุด คือวิกฤติซับไพรม์เมื่อราว 10 ปีก่อน

เมื่อ Inverted yield curve เกิดขึ้นอีกในช่วงนี้ คนก็เลยกังวลว่า อาจตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นใน 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า

แต่จะเป็นจริงอีกหรือไม่ ต้องติดตามดูตัวบ่งชี้อื่นๆ ด้วย

ถ้าในอนาคต โลกถดถอยจริง ไทยจะไปไหวไหม ?

กูรูหลายคนยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง จนน่าจะรองรับวิกฤตจากภายนอกได้ เพราะมีทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะและยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยรวมๆ เราแข็งแรงกว่าช่วงปี 2540 มาก และหวังว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลทยอยออกมาเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจรากหญ้ากับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย น่าจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ เราจะรองรับไหว และรองรับได้ดีกว่าในอดีตช่วงต้มยำกุ้ง

แต่นั่นคือภาพรวมๆ หรือมหภาค

ถ้ามองไปที่จุลภาคเป็นรายย่อย ทั้งธุรกิจและคนแล้ว เราพบว่า ยังไม่ต้องรอให้เจอภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในอนาคต วันนี้ หลายคน หลายธุรกิจเล็กๆ เริ่มล้มหายตายจากกันไปเรื่อยๆ จากกำลังซื้อไม่มี และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค กับพลัง SME ที่ด้อยกว่ารายยักษ์อย่างเทียบกันไม่ได้

ทำไมแบงก์ชาติและคลังถึงไม่ช่วยภาคการเงิน ภาคธุรกิจในช่วงวิกฤติปี 2540 หรือต้มยำกุ้ง ทำไมปล่อยให้ล้มละลายไปมากมาย ?

ช่วงต้มยำกุ้ง ฝรั่งกดดันไม่ให้เราโอบอุ้มกิจการและสถาบันการเงินที่ประสบภัย ด้วยเหตุผลว่า จะผิดวินัยการเงินการคลัง ต้องปล่อยให้ธุรกิจหลายแห่งล้มละลายตายจากไป โดยบอกว่า นี่คือเรื่อง normal

พอถึงช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในบ้านตัวเอง ฝรั่งกลับบอกว่า ไม่ได้แล้ว ต้องช่วยอุ้ม กดอัตราดอกเบี้ยจนเป็น 0% อัดฉีดเงินกงเต็กเข้าระบบไปช่วยในรูปของ QE แล้วบอกว่า นี่คือ new normal

มาวันนี้ นักเศรษฐศาสตร์ต่างพากันกังวลว่า ธนาคารกลางหลายประเทศจะทำอะไรไม่ได้มากนัก ในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา เพราะอัตราดอกเบี้ยของโลกอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว แถมยังติดลบในบางประเทศ จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ช่วยไม่ได้มาก และบางประเทศก็ไม่มีจะให้ลด

ดูๆ ไปแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ควรกังวลมาก เพราะถ้าเกิดวิกฤติใหม่ขึ้นอีก ในที่สุด บรรดานักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์ ที่จบตำราเดียวกัน ทำงานอยู่ใน White House กับ FED เขาคงออกเครื่องมือประหลาดๆ ที่ abnormal ออกมาอีกจนได้

จาก normal เป็น new normal จนกลายเป็น abnormal ... วิปริต วิตถาร สมกับเป็น animal farm จริงๆ