posttoday

เปลี่ยนเป็นเพื่อนกับความเสี่ยงอย่างไร

18 กันยายน 2562

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

คอลัมน์ รู้รอบโลก รู้รอบรวย โดย...ดร. ตรีพล ภูมิวสนะ Private Banking Business Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

สภาวะการลงทุนในปัจจุบันเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีหลาย ๆ เหตุการณ์ทั่วโลกที่ทำให้ความผันผวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1.ข้อพิพาทการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ แม้ว่าในช่วงนี้อาจจะสามารถมีข้อตกลงกันในบางเรื่องได้ 2.ฝั่งยุโรปก็มีประเด็นเรื่อง Brexit ที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าสหราชอาณาจักรอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไร้ข้อตกลง แต่กลับกลายเป็นว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์ความเสี่ยงดังกล่าวได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 3.การประท้วงในฮ่องกงที่เคยรุนแรงในหลายสัปดาห์ผ่อนคลายลง 4.ด้านนโยบายธนาคารกลางของหลายประเทศก็ผันผวนเช่นเดียวกัน เห็นได้ชัดจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อปีที่แล้วดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด แต่มาในปีนี้กลับแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มผ่อนคลาย โดยปรับลดดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง และคาดว่าน่าจะมีการปรับลดอีก 2-3 ครั้ง สาเหตุเหล่านี้ทำให้ความผันผวนในช่วงนี้เพิ่มสูงขึ้นทั้งขาลงและขาขึ้น

ความเสี่ยงเหล่านี้มีทั้งที่เรารู้แล้วและสามารถประเมินผลลัพท์ได้ (Known – Known) และที่เรารู้แล้วไม่สามารถประเมินผลลัพท์ได้ (Known – Unknown) และยังมีอีกส่วนที่เราเองก็ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นและผลลัพท์จะเป็นอย่างไรอีกในอนาคต (Unknown – Unknown) แต่ทั้งสามลักษณะของความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็น (Known – Known) นั้นต้องอาศัยความรู้ ข้อมูล การวิเคราะห์ ความเข้าใจในเรื่องราวเหล่านั้นมากๆ หรือแม้กระทั่งยอมรับว่าเราไม่รู้อนาคตจริงๆ ก็เป็นวิธีจัดการกับความเสี่ยงวิธีหนึ่ง การยอมรับว่าไม่มีการลงทุนใดๆ เน้น Known – Known อย่างแท้จริงและยอมรับว่าการลงทุนทั้งหมดคือการบริหารจัดการ (Known – Unknown) และ (Unknown – Unknown) ทั้งสิ้น เป็นการบริหารจัดการความคิดเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงที่สำคัญมาก

ตามทฤษฎีมี 3 วิธีที่จะจัดการความเสี่ยง 1.คือการกระจายความเสี่ยง 2.คือการประกันความเสี่ยง และ 3.คือการยอมรับความเสี่ยงนั้นๆ เมื่อผลตอบแทนระยะสั้นเป็นสิ่งที่ผันผวนมากกว่าและคาดเดายากกว่าผลตอบแทนในระยะยาวการกระจายความเสี่ยงจึงเป็นวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีวิธีหนึ่ง อีกวิธีในการจัดการกับความเสี่ยงคือการประกันความเสี่ยงหรือการส่งต่อความเสี่ยงหรือไม่รับความเสี่ยงนั้นๆ เลยเช่น การซื้ออนุพันธ์ที่ป้องกันความเสี่ยงขาลง หรือการถือเงินสดมากๆ การทำเช่นนี้มักจะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ก็การสูญเสียโอกาสควบคู่ไปด้วย วิธีสุดท้ายคือการยอมรับความเสี่ยง หากเข้าใจความเสี่ยงดี มีความรู้ ข้อมูล หรือแนวทางวิเคราะห์ที่แม่นยำ ก็อาจยอมรับความเสี่ยงนั้นๆ ได้ แต่ก็ต้องทำใจเพราะความผิดพลาดในการคาดเดาอนาคตเกิดขึ้นได้เสมอเช่นกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดอยากให้นักลงทุนอดทน เข้าใจตลาดทุนว่าความเสี่ยงเป็นสิ่งที่คู่กันกับการลงทุนทุกๆ ครั้ง ยิ่งผันผวนมากนักลงทุนยิ่งต้องทำการลงทุนแบบเฉลี่ยมากขึ้น (Dollar Cost Average) เพราะเราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ และการดำเนินนโยบายที่สร้างความผันผวนนั้น จะเกิดขึ้นหรือคลี่คลายเมื่อใด หลายๆ ครั้งนักลงทุนมักจะใช้ความรู้สึกเข้ามาตัดสินใจที่ทันต่อความผันผวนไม่ไหวและขายตอนจุดต่ำสุด หรือเริ่มสบายใจเข้าลงทุนเมื่อตลาดขึ้นไปมากแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวที่อาจสร้างความเสียหายให้กับพอร์ตลงทุนได้ คือ เน้นลงทุนระยะยาว กระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ และลงทุนอย่างต่อเนื่อง และใช้ผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถเชื่อถือได้มองความผันผวนเป็นมิตรเพราะความผันผวนคือโอกาสที่สามารถปรับพอร์ตให้มีการกระจายตัวและความเสี่ยงโดยรวมอยู่ที่เราจะยอมรับได้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เป็นอย่างที่คาดหวังในอนาคต